Kerry Patterson, Joseph Grenny, David Maxfield, Ron McMillan และ Al Switzler. จิรายุทธ ประเจิดหล้า (แปล). เปลี่ยนวิธีคิด ชีวิตเปลี่ยน. กรุงเทพฯ : แมคกรอ-ฮิล, 2552.
กลายเป็นหนึ่งในหนังสือที่รักมากที่สุดไปอีกเล่ม ถึงแม้ว่าตอนช่วงแรกๆ ที่อ่าน จะรู้สึกหงุดหงิดรำคาญใจไม่น้อยกับภาษาการเขียน คงเป็นเพราะเป็นหนังสือแปลจากภาษาอังกฤษ ภาษามันเลยขัดๆ งงๆ ดูเป็นวิชาการ แต่ฟังแล้วแปลกๆ แต่พออ่านไปสักพัก ความหงุดหงิดก็หายไปเอง ไม่รู้ว่าเป็นเพราะชิน หรือเพราะเริ่มอินกับเนื้อหาในหนังสือ คิดว่าคงเป็นอย่างหลังมากกว่าค่ะ
สิ่งหนึ่งที่อยากบอกคือ ห้ามเดาจากชื่อเรื่องภาษาไทยเด็ดขาดว่าหนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร เพราะไม่ตรงแน่ๆ ชื่อทำให้ไขว้เขว คิดว่าหนังสือเล่มนี้บอกวิธีการคิดแบบใหม่ๆ ที่จะช่วยให้เราเปลี่ยนชีวิตตนเองให้ดีขึ้น ซึ่งตรงแค่คำว่า “เปลี่ยน” เท่านั้น ความจริงคือ หนังสือต้องการนำเสนอวิธีการที่จะทำให้เรากลายเป็นผู้เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมใดพฤติกรรมหนึ่งของคนในสังคม ซึ่งจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในระดับกว้าง (ในบริบทนี้ ใช้คำว่า มหภาค ได้ไหมเนี่ย) จนกลายเป็นความเคยชินใหม่ หรือวัฒนธรรมใหม่เลย ถ้าเราปฏิบัติตามสิ่งที่หนังสือบอก เราจะกลายเป็นนักเปลี่ยนแปลง ที่สามารถเปลี่ยนอะไรก็ได้ แม้แต่พฤติกรรมของตนเอง
เห็นไหมว่ามันไม่ได้เกี่ยวอะไรกับชื่อหนังสือภาษาไทยเลย แต่ถ้าเป็นภาษาอังกฤษที่คณะผู้เขียนคิดมา ถึงจะเข้าเค้าหน่อย คิดอยากเขกกะโหลกคนแต่งชื่อภาษาไทยอยู่ในใจ หวังว่าคงไม่ใช่ผู้แปลนะ
มีสิ่งที่น่าสนใจในหนังสือมากมาย หลายๆ อย่างน่าเอามาทดลองทำกับตนเอง หมายถึง ทดลองเปลี่ยนพฤติกรรมตนเองหนึ่ง และทดลองเปลี่ยนพฤติกรรมของคนอื่นอีกหนึ่ง มีอยู่สองประเด็นที่ดิฉันชอบมากๆ เลย คือ การฝึกฝนอย่างมีแบบแผน ความจริงในหนังสือเล่มนี้ก็ไม่ได้อธิบายเรื่องนี้มากนัก แต่มันทำให้ดิฉันเห็นภาพชัดเจนขึ้น ว่าทำไมคนบางคนถึงใช้เวลานานเหลือเกินที่จะทำอะไรอย่างหนึ่งให้สำเร็จ ในขณะที่อีกคนใช้เวลาไม่นาน การฝึกฝนเป็นเรื่องสำคัญ แต่ต้องฝึกอย่างมีแบบแผน ไม่ใช่ฝึกอย่างเลอะเทอะไร้ทิศทาง รู้เลยว่าหนังสือเล่มต่อไปที่อยากจะอ่านคือ “The Outliers”
อีกประเด็นหนึ่งที่ชอบมากคือ การใช้พลังของคนในสังคมเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ซึ่งผู้เขียนใช้ตัวอย่างของดร. เอฟเวอเร็ต โรเจอร์สมาอธิบาย ดร.โรเจอร์สได้ศึกษาพฤติกรรมของคนกลุ่มหนึ่งว่าทำอย่างไรถึงจะให้พวกเขาปลูกข้าวโพดพันธุ์ที่เขาคิดค้นขึ้นมา เขาเรียนรู้ว่า คนในชุมชนหนึ่งมีคนกลุ่มหลักๆ คือ ผู้ทดลองใช้สิ่งใหม่ๆ เป็นคนแรก หรือ innovators กลุ่มนำสมัย หรือ early adapters กลุ่มผู้นำทางความคิด หรือ opinion leaders และคงจะมีกลุ่มผู้ตาม
กลายเป็นว่า กลุ่มที่มีอิทธิพลต่อสังคมโดยรวมมากที่สุดนั้น ไม่ใช่กลุ่ม innovators แต่เป็นกลุ่ม opinion leaders คนกลุ่มนี้จะรวมอยู่ในกลุ่ม early adapters แต่มีความใกล้ชิดคนในสังคมมากกว่า ในขณะที่พวก innovators จะทำอะไรใหม่ๆ แหวกแนวอยู่เสมอ จนบางทีคนกลับมองว่าเป็นพวกชอบต่อต้านวัฒนธรรมเดิมๆ คนส่วนใหญ่เลยไม่ค่อยจะทำอะไรตามคนกลุ่มนี้มากนัก ดังนั้น หากต้องการหาแนวร่วมในการเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในสังคม เราต้องได้ใจจากพวก opinion leaders ก่อน ซึ่งในชุมชนหนึ่งจะมีคนกลุ่มนี้อยู่ประมาณร้อยละ 13.5 ก็ถือว่าเยอะพอสมควรนะ
ดิฉันไม่รู้เหมือนกันว่าควรจะเชื่อการค้นพบนี้ของดร.โรเจอร์สหรือไม่ เพราะไม่ใช่คนไทย และสิ่งที่เขาค้นพบอาจจะไม่ได้เป็นจริงในวัฒนธรรมอื่นก็ได้ แต่ดิฉันเชื่อว่า การใช้พวก opinion leaders เป็นแนวร่วมเป็นวิธีที่น่าจะได้ผล นี่พูดจากประสบการณ์การทำงานในชุมชนชนบท หมู่บ้านที่ทีมงานสามารถหา opinion leaders เข้ามาเป็นผู้นำโครงการได้ หมู่บ้านนั้นจะดำเนินกิจกรรมพัฒนาได้รวดเร็วมาก ชาวบ้านให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ opinion leaders นี้ไม่จำเป็นต้องเป็นผู้ใหญ่บ้านหรือสมาชิกอบต.ด้วย พวกเขาจะเริ่มปรากฏกายออกมาเองตอนที่เริ่มมีการประชุมในหมู่บ้าน เราต้องหาให้เจอ แล้วพยายามส่งเสริมให้พวกเขาขึ้นมาเป็นผู้นำให้ได้
ถ้าดร.โรเจอร์สพูดถูกเรื่องจำนวนของ opinion leaders ในหนึ่งชุมชน ในหมู่บ้านขนาดประชากรประมาณ 300 คน จะต้องมีคนกลุ่มนี้อยู่ประมาณ 30-40 คน และถ้าเราหาคนพวกนี้เจอ ให้พวกเขาเข้ามาเป็นคณะกรรมการพัฒนาหมู่บ้าน รับรองเลยว่าโครงการพัฒนาชุมชนที่องค์กรดิฉันทำอยู่นี้จะกระฉูดแน่ๆ แต่ปัญหาก็คือ ดิฉันไม่ค่อยเชื่อว่าในชนบทไทยจะมี opinion leaders อยู่ถึงร้อยละ 13.5 น่ะสิ
เรื่องแปลกอย่างหนึ่งก็คือ ผู้เขียนคงจะมีข้อสันนิษฐานอยู่ในใจแล้วว่า นักเปลี่ยนแปลงส่วนใหญ่มีพื้นฐานจิตใจที่ดี ต้องการช่วยเหลือผู้อื่น ต้องการทำให้สังคมดีขึ้น ซึ่งไม่จำเป็นหรอก ถึงแม้ว่าผู้เขียนจะยกตัวอย่างของนักเปลี่ยนแปลงที่ได้สร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับสังคม เช่น เปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคน้ำของคนพื้นเมืองเพื่อขจัดปัญหาการแพร่ระบาดของพยาธิ เป็นต้น แต่ก็ยังมีตัวอย่างของคนที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของนักพนันให้เล่นพนันได้นานขึ้นกว่าเดิมด้วยการสร้างบรรยากาศของพื้นที่ให้เหมาะสม ถามว่าดีไหมล่ะ หรือตัวอย่างแบบสีเทาเลยก็ได้ คือ คุณหมอท่านหนึ่ง (เป็นคนไทยด้วยนะ เพิ่งได้รับรางวัลอานันทมหิดลพร้อมเจ้านายดิฉันเมื่อต้นปีนี้เอง) ต้องการหยุดการแพร่ระบาดของโรคเอดส์ จึงรณรงค์ให้ผู้หญิงที่ทำงานบริการในสถานอาบอบนวด หรืออะไรทำนองนี้ ใช้ถุงยางอนามัย หากแขกผู้ชายที่มาใช้บริการไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย ผู้หญิงเหล่านี้ก็จะไม่ยอมให้บริการ ถามว่าดีไหมที่สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้หยุดแพร่เชื้อเอดส์ได้ คำตอบคือ ดี แล้วนี่มันเป็นการส่งเสริมให้ชายไทยเที่ยวมากขึ้นหรือเปล่า นอกใจภรรยาตนเองได้อย่างสบายใจขึ้นหรือเปล่า เพราะอย่างน้อยก็ไม่เอาโรคกลับไปฝาก ผู้หญิงเริ่มเห็นว่าอาชีพนี้เป็นอาชีพทั่วไป ทำแล้วได้เงิน ปลอดภัยไม่ติดโรค เลยไม่ต้องทำอาชีพอื่นแล้ว
สิ่งสุดท้ายที่อยากนำมาเป็นข้อสรุปก็คือ เราไม่จำเป็นต้องเป็นคน innovative คือไม่ต้องมัวแต่คิดหาวิธีใหม่ๆ ไม่ซ้ำใครอยู่ตลอดเวลา เพื่อเป็นสุดยอดนักเปลี่ยนแปลง ฟังดูแล้วอาจจะขัดๆ อยู่ใช่ไหม ในโลกนี้มีกระบวนการการเรียนรู้ ทฤษฎีเป็นร้อยเป็นล้านที่คนเก่งๆ เขาคิดไว้ให้แล้ว เราไม่จำเป็นต้องไปคิดอะไรเพิ่ม เพียงแค่รู้จักนำความรู้เหล่านั้นมาทดลอง สังเกตุ และปรับปรุงพัฒนาไปเรื่อยๆ แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องมีความสามารถด้านการสื่อสาร ไม่อย่างนั้น เราจะไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างที่เราต้องการ เพราะคนไม่เข้าใจว่าเราต้องการทำอะไร หากไม่เข้าใจ แล้วจะทำตามไปทำไม แล้วสิ่งที่เราเพียรพยายามจะทำ มันจะไม่มีผลอะไรเลย
No comments:
Post a Comment