5.30.2010

"พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?"





ทรงกลด บางยี่ขัน, จิราภรณ์ วิหวา และ ณัฐชนน มหาอิทธิดล.  พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?.  กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก, 2553

คนโลกแคบๆ อย่างดิฉัน ไม่เคยเจอใครมีคำถามที่ว่า “พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่” เลย  แต่นั่นคงไม่ได้หมายความว่า เราเชื่อทุกสิ่งอย่างที่ได้ร่ำเรียนหรือได้ยินได้ฟังมาหรอก เพราะเรามีคำถามอีกมากมาย ซึ่งดิฉันคิดว่าตั้งต้นจากความสงสัยเรื่องบาปเรื่องกรรม โดยเฉพาะจากตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริงที่ว่า คนที่ทำแต่ความดีกลับไม่ค่อยได้อะไรตอบแทน แต่คนชั่วกลับรวยเอาๆ ไม่เห็นโดนธรณีสูบอย่างพระเทวทัตเลย  พุทธศาสนาเลยกลายเป็นเรื่องตำนานที่เอาไว้ข่มขู่ให้เรากลัวบาป กลัวผี กลัวว่าชาติหน้าจะเกิดเป็นเปรตเท่านั้นเอง ใครกลัวก็หมั่นทำความดีไป ใครไม่เชื่อก็ใช้ชีวิตโดยให้กิเลสตัณหาเข้าครอบงำ

แต่หากได้อ่านหนังสือ “พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?” เล่มนี้แล้ว จะรู้ว่าคำตอบของข้อสงสัยเหล่านี้ ไม่มีความสำคัญเลยเมื่อเทียบกับการพยายามศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วงกิเลสทั้งหลาย

หนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้  แสดงให้เห็นถึงอำนาจของคำถามและการตอบคำถามที่ท้าทายระดับปัญญา  เราคงเคยได้ยินครูพูดอยู่บ่อยๆ ว่ามีอะไรให้ถาม ไม่มีคำถามที่ถูกหรือผิด คำถามต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน จะมีสักกี่คนที่กล้าไปถามพระสงฆ์ว่า “พระพุทธเจ้ามีจริงไหมครับ” หรือ “พระเครื่องศักดิ์สิทธิ์จริงไหมครับ” หรือ “ศาสนาสอนว่าที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แล้วอย่างนี้เราควรมีความรักไหมคะ” ดิฉันจำได้ว่าเคยถามพระสงฆ์รูปหนึ่งว่า “ที่หนังสือบอกว่า สัตว์นรกจะได้รับส่วนบุญเฉพาะวันพระ จริงหรือเปล่าคะ” เพื่อนดิฉันที่ไปไหว้พระด้วยกันคงจะอายแทน เพราะหลังจากนั้นไม่เคยไปไหว้พระด้วยกันอีกเลย

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือ ไม่ว่าคำถามจะมาในรูปแบบใด จะอิงวิทยาศาสตร์แล้วมาเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา หรือจะมาจากความใคร่รู้ส่วนตัวในเรื่องที่หลายคนมองว่า “ถ้าไม่เชื่ออย่าลบหลู่” พระสงฆ์ทั้ง 9 รูปผู้ที่มาตอบคำถามนั้น จะตอบไปในแนวทางเดียวกัน คือไม่ตอบ yes หรือ no เลย ไม่มี ถูก หรือ ผิด

แต่คำตอบกลับนำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้น คำถามที่เราต้องกลับมาถามตัวเองก่อนที่จะสร้างปัญญาต่อไป (ถ้าเราพยายามจะเข้าใจจริงๆ แต่ถ้าไม่ก็จบอยู่แค่ที่ว่า “ท่านตอบไม่ตรงคำถามนี่หว่า”) ยกตัวอย่างจากคำถามที่นำมาเป็นชื่อหนังสือเลย “พระพุทธเจ้ามีจริงไหมครับ” พระประสงค์ ปริปุณฺโณ ตอบว่า “เธอเชื่อว่าปู่ของเธอมีจริงไหม แล้วปู่ของปู่ของเธอมีจริงหรือเปล่า แล้วปู่ของปู่ของปู่เธอล่ะ...” แล้วท่านก็ว่าต่อไปถึงเรื่องศาสนาคริสต์เชื่ออย่างนั้น ศาสนาอิสลามว่ากันอย่างนี้ ไปนู่นเลย แต่สำหรับดิฉัน คำตอบคือ เราจะไปยึดติดทำไมว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่จริง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เรามีหนทางดับทุกข์อยู่ หนทางที่เราจะต้องเห็นสิ่งที่เป็นความจริง นั่นคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีเกิดมีดับ ยอมรับและปล่อยวางให้ได้ ซึ่งก็จะเห็นว่า ไม่มีส่วนใดเลยที่จะต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า

สิ่งหนึ่งที่พระสงฆ์ผู้ปรีชาทั้ง 9 รูปพูดเหมือนกันคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราเชื่อ ท่านสอนให้เราทำ ให้ลองปฎิบัติตามดู แล้วจะเห็นเอง เห็นจริง เห็นแท้ เห็นแจ้งธรรมชาติ

ตอนหนึ่งในหนังสือที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษคือ ช่วงคำถามเกี่ยวกับวัยรุ่นกับธรรมะ ซึ่งเป็นตอนที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เป็นผู้ตอบ ท่านบอกว่า ต้องสร้างแรงบันดาลใจ คนจะสนใจพุทธศาสนาได้จะต้องมีครูที่ดี ต้องรู้ว่าธรรมะเป็นสิ่งวิเศษ และยิ่งถ้าได้เห็นกับตัวเองเลยว่าธรรมะช่วยแก้ปัญหาในชีวิตได้ คนๆ นั้นจะมีแรงบันดาบใจที่จะศึกษาธรรมะต่อไป  ดิฉันเห็นด้วยที่พระมหาวุฒิชัยบอกว่าการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาในเมืองไทยไปไม่ถูกทาง เพราะครูใช้วิชาพุทธศาสนาและการนั่งสมาธิเป็นการลงโทษ เด็กๆ จึงสร้างอคติกับพุทธศาสนาได้ง่าย

ประเด็นนี้เชื่อมโยงไปถึงช่วงคำถามเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ ในพุทธศานา เช่น การพรมน้ำมนต์ การเจิม ฯลฯ ซึ่งพระศรีญาณโสภณตอบไว้ว่า พิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานศพ งานก่อสร้างโบสถ์สร้างวิหาร ล้วนเป็นกระบวนการที่ดึงคนให้เข้าใกล้ธรรมะมากขึ้น เป็นเพียงเปลือกนอก คนหลายคนเข้าหาพุทธศาสนาก่อนด้วยการทำบุญ เข้าวัดมากขึ้น ถวายของให้พระแล้วเห็นผล ผลคือพระได้ของและเรามีความสุขขึ้น เราจึงเห็นวัดพยายามสร้างสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกญาติโยมให้เข้าวัดมากขึ้น เช่น จัดชุดสังฆทานไว้ให้เลย แถมยังมีคนนำสวด หรือบทสวดไว้บริการอีกต่างหาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรากลายเป็นคนที่สามารถละกิเลสหรือปล่อยวางเลย  ซึ่งดิฉันคิดว่ามันก็เหมือนกันการสร้างแรงบันดาลใจ คือเริ่มทำให้คนรู้สึก ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสนใจทำความดี ได้เริ่มศึกษา แล้วจึงเริ่มขยายต่อไปยังการปฏิบัติธรรมเพื่อปล่อยวาง ซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา

และเพียงแค่สองตัวอย่างที่กล่าวมานี้ก็ทำให้ดิฉันเข้าใจได้แล้วว่า คำถามที่เรามีเป็นเพราะเราไม่เคยเห็นผลของการทำดีหรือทำชั่ว ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วมีแต่ในละคร เราเข้าหาพิธีกรรมต่างๆ การทำบุญ การบริจาคเพราะเราคิดว่ามันจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่สบายใจอย่างเดียว แต่ในเมื่อเราทำแทบตาย กลับไม่เห็นว่าส่วนไหนของชีวิตเราดีขึ้น เราก็ต้องเกิดคำถามขึ้นเป็นธรรมดา

และเพียงแค่สองตัวอย่างนี้ก็น่าจะเพียงพอกับการอธิบายได้แล้วว่า ทำไมเราจะต้องไปสนใจด้วยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่มีจริง ตำนานต่างๆ ตั้งแต่พญานาคจำแลงกายเป็นมนุษย์เพราะอยากบวชเป็นพระสงฆ์ ไปจนถึงไฟจะล้างโลกทุกห้าพันปี เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือการจัดงานบุญ การเจิม การพรมน้ำมนต์ ฯลฯ ได้ผลจริงหรือไม่ เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเพียงสิ่งที่พยายามดึงเราให้เข้าหาความจริงอันเป็นแก่นแท้ของธรรมชาติและการดับทุกข์  แม้แต่การบวชเป็นพระสงฆ์ ก็อาจจะเป็นพิธีกรรมและการดำรงชีวิตที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงนิพพานเร็วขึ้น แต่ดังที่พระภาสกร ภูริวฑฺฒโนกล่าวไว้ว่าเราไม่ต้องครองผ้าเหลืองก็เข้าถึงนิพพานได้

นี่หมายความว่าอะไรเล่า สำหรับดิฉัน มันหมายความว่าหนทางแห่งการดับทุกข์นั้นมีอยู่แล้ว พุทธศาสนาได้เสนอหนทางนี้ไว้ให้แล้ว และหนทางที่จะเดินกันไปนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องหันกลับมาถามว่า “ต้องบูชาพระเครื่องไหม จะได้เข้านิพพานเร็วขึ้น” หรือ “บุญที่เราได้มาอยู่ที่ไหน” อีกต่อไป

สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้คงจั๊กจี้หัวใจไม่เบา ดิฉันคงบอกไม่ได้ว่านี่คือหนังสือพุทธศาสนาหรือไม่ มันไม่ได้มีบทสวดมนตร์แถมท้าย ไม่มีขั้นตอนการกำหนดลมหายใจทำสมาธิ ไม่มีคำนำที่ขออนุโมทนาบุญ หรือมีรายชื่อผู้บริจาคพิมพ์หนังสือ  แต่นี่เป็นหนังสือสำหรับผู้ที่สงสัยในพุทธศาสนา ผู้ที่คิดว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ เรื่องงมงาย

ดิฉันแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงใจ เพราะอ่านง่าย ให้ความรู้สึกเหมือนได้นั่งฟังเทศน์ในบรรยากาศสบายๆ ได้ถามคำถามอะไรก็ได้ที่เราอยากรู้โดยที่ไม่ต้องอายใคร รู้ก่อนที่เราจะไม่เหลือศรัทธาใดๆ ให้กับพุทธศาสนาอีกต่อไป