8.14.2010

"ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่"



 

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา.  ผู้นำ อำนาจ  ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่.  กรุงเทพฯ : openbooks, 2552.


ไม่ได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองมานานมากแล้ว จะมีก็แต่อ่านจากคอลัมน์นิตยสารทั่วไป  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมืองญี่ปุ่น  หนังสือแนวนี้เล่มสุดท้ายที่นึกออกน่าจะเป็น “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ของวินทร์ เลียววารินทร์ ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีหนึ่ง (ไม่อยากบอกเลยว่ามากกว่าสิบปีมาแล้ว) แต่หนังสือเล่มนั้นกับ “ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่” เล่มนี้มีแนวทางการเขียนแตกต่างกันอยู่ดี แต่อารมณ์สุดท้ายที่ได้หลังอ่านจบทั้งสองเล่มเหมือนกัน

โดยส่วนตัวแล้วชอบ “ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่” มากค่ะ ได้มาตอนงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นปีนี้ จำไม่ได้แน่ชัดว่าตัดสินใจซื้อเพราะอะไร แต่รู้สึกตื่นเต้นกับหนังสือเล่มนี้มาก  ไม่ได้อ่านทันทีหลังจากกลับมาบ้าน เพราะยังมีอีกหลายเล่มที่ซื้อมาก่อนหน้านั้น ต้องเรียงตามคิว แถมยังมีเล่มอื่นๆ ที่ซื้อและอ่านลัดคิวอีก  เลยได้มาอ่านจริงๆ ตอนหลังเกิดเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดงยึดราชประสงค์ เผาบ้านเผาเมืองพอดี  การได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเคียงคู่กับความรุนแรงอยู่เสมอ เหมือนดาวคู่ฟ้า ต่างกันก็แค่คู่แรกไม่เคยสร้างความจรรโลงใดๆ ให้กับสังคมเลยสักนิด

หนังสือเล่มนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความรุนแรง การเข่นฆ่า หักหลัง ทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด มักจะปรากฏออกมาให้เห็น โดยเฉพาะในยามที่คนๆ หนึ่งพยายามจะรักษาอำนาจทั้งหมดที่มีอยู่ไว้ให้นานที่สุด หรือยามที่คนๆ หนึ่งพยายามจะชิงอำนาจจากอีกคนหนึ่งมาไว้เป็นของตัว  มันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ปุถุชนใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะสังคมของผู้เจริญแล้ว หรือประเทศโคตรมหาอำนาจ เงามืดของความอำมหิตโหดร้ายก็ยังสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปได้

สิ่งที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ การที่ผู้เขียนพยายามเชื่อมโยงปมในวัยเด็กและชีวิตครอบครัวเข้ากับบุคลิกภาพของผู้นำคนหนึ่ง  ความจริงแล้วดิฉันคิดว่าเรื่องการวิเคราะห์บุคลิกภาพจากสภาพชีวิตในวัยเด็กมันไม่ใช่เรื่องยากนัก ดูละครหลังข่าวบ่อยๆ ก็ยังช่วยให้เข้าใจได้เลย แต่เมื่อเป็นเรื่องของผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำระดับโลก อย่างโทนี่ แบลร์ นิโคลัส ซาโกซี ฯลฯ หรือแม้แต่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะของเราก็เถอะ ใครจะไปเอาปมชีวิตวัยเด็กของท่านเหล่านี้มานั่งวิจารณ์ว่าทำไมท่านทำตัวอย่างนั้น ตัดสินใจอย่างนี้

จริงอยู่ ข้อมูลเหล่านี้มันไม่ได้สืบหากันมาได้ง่ายๆ แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ทำให้เรามองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปเป็นเพราะเรายกบุคคลเหล่านี้เหนือกว่าพวกเรา ท่านๆ ทั้งหลายเหล่านี้ต้องมีความพิเศษเหนือมนุษย์ประชาชนธรรมดาอย่างเรา จิตใจและมันสมองของพวกท่านล้ำลึกซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเทียบเคียง  ดังนั้น เราคงไม่สามารถไปวิจารณ์พวกท่านโดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับเราได้หรอก  แต่หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะรู้เลยว่าพวกผู้นำมันก็คนเหมือนกับเรานั่นแหละ มีโกรธ มีโลภ ไปตามเรื่อง

อย่างนิโคลัส ซาโกซีนี่ดิฉันชอบมาก ผู้เขียนเล่าว่าตัวของซาโกซีนั้นไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กที่ราบรื่น เรียนก็ไม่เก่ง ตัวเล็ก แต่อยากได้รับการยอมรับ เลยต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ความสนใจจากคนรอบข้าง ทั้งๆ ที่ก็ทำได้ไม่ดีนัก  จนได้มาเป็นประธานาธิบดียุคใหม่ของฝรั่งเศสเพราะความทะเยอทะยานอยากเด่นอยากดังแท้ๆ เชียว  จะมีเมียไว้อวดชาวโลกก็ต้องหาแบบซะเริ่ดขนาดนั้น ต้องสร้างข่าว ลงหนังสือพิมพ์ คงสมใจเขาแล้วล่ะ  แต่พอมาถึงงานบริหารบ้านเมือง มีอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวบ้างล่ะ บัลลังก์ท่านจะล่มแหล่มิล่มแหล่  หรืออย่างแบร์ลุสโคนี ประธานาธิบดีจอมโฉดของอิตาลี พื้นฐานพี่แกเป็นโจรมาแต่ไหนแต่ไร ในหัวมีแต่เรื่องโกงกับหนีคดีให้พ้นผิด พอมาได้อำนาจก็เลยตั้งหน้าตั้งตาทำแต่เรื่องแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด เพราะพื้นฐานในจิตใจของพี่แกมีอยู่แค่นี้ เป็นมนุษย์กลัวติดคุกติดตาราง อยากมีอำนาจ อยากรวยเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษเหนือมนุษย์อย่างเราเลย

ผู้เขียนยังได้เสนอสิ่งสำคัญอีกประการที่ทำให้การเมืองหรือผู้นำคนนั้นๆ เป็นอย่างที่เห็น ซึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์การเมือง ที่สืบเนื่องกันอย่างใกล้ชิดแบบตัดกันไม่ขาด ถ้าไม่มีการส่งระเบิดพลีชีพไปกำจัดนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ทิ้งอย่างถอนรากถอนโคน  ผู้นำหนึ่งคนเป็นผลพวงของอดีต การเรียนรู้ การรับข้อมูล การตัดสินใจ ล้วนได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ที่ได้จากอดีตทั้งสิ้น บ้างก็ต้องการต่ออดีตนั้นสู่อนาคตเพราะเห็นว่ามันดีอยู่แล้ว บ้างก็ต้องการล้มล้างอดีตนั้นทิ้งเสีย แล้วเริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่เขากำลังจะสรรค์สร้าง  แต่ประวัติศาสตร์และประสบการณ์นั้นสำคัญพอๆ กับช่วงชีวิตในวัยเด็กและสภาพแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมาเลยทีเดียว ในการที่จะบอกได้ว่าทำไมผู้นำคนนี้ถึงได้คิดแต่เรื่องเอาใจนักการเมืองรุ่นเก่า ทำไมผู้นำคนนั้นถึงต้องการประโคมข่าวผลงานของตนเองมากๆ

การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนได้อ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์อันสนุกสนาน เหมือนดูหนังยุคกรีก-โรมัน ยุคจิ๋นซี ฮ่องเต้ ที่เอะอะอะไรก็ยกทหารไปฆ่าทิ้ง ยึดเมือง ยึดที่นากันซะงั้น แต่นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง บางเหตุการณ์เพิ่งเกิดมาเมื่อไม่นานมานี้ด้วยซ้ำ เสียอย่างเดียวก็คือเรื่องของแต่ละคนมันสั้นไป ซึ่งก็ดีนะคะ จบเร็วดี ผู้เขียนสรุปเหตุการณ์สำคัญมาให้หมดแล้ว แต่บางประเด็นมันอยากรู้ต่อไง ยิ่งประวัติศาสตร์การเมืองของรัสเซียนี่มันส์มาก วลาดิมีร์ ปูตินมาถึงขนาดนี้ได้ถือว่าไม่ธรรมดา แต่อยากอ่านเพิ่มอีกไง อยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้

แต่สุดท้ายก็เข้าใจว่า บทความแต่ละชิ้นของผู้นำแต่ละคนนั้นเขียนขึ้นสำหรับตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน ดังนั้น จึงต้องกระชับและสามารถจบในตอนได้  พักหลังๆ นี่เจอแต่หนังสือที่รวบรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารเยอะจัง จะว่าไปรู้สึกเหมือนโดนหลอก เอาของเก่ามาปัดฝุ่น แต่งหน้าทาปากขายใหม่ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าเราคงไม่มีปัญญามาตามอ่านนิตยสารหลายสิบเล่มได้ในหนึ่งเดือน หรือลงทุนซื้อนิตยสารหนึ่งเล่มเพื่ออ่านเรื่องราวเพียงเรื่องเดียวกันเป็นปีๆ สู้ซื้อหนังสือมาหนึ่งเล่ม อ่านมันรวดเดียวจบเลยดีกว่า ก็ว่ากันไป แต่เล่มนี้ถือว่าคุ้มนะคะ ถ้ามีเล่มสองอีกก็จะตามซื้อมาอ่านอีก แต่เล่มสองนี้จะเขียนถึงใครล่ะ เพราะผู้นำที่รู้จักกันดีในระดับโลกก็เขียนถึงไปหมดแล้ว คงจะเขียนเรื่องผู้นำที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน หรือผู้นำที่โลกไม่อยากจับตามองเลยก็น่าสนใจดีนะคะ  อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าผู้เขียนจะต้องเขียนเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร เนื้อเรื่องมันจะออกมาเป็นอย่างไร

7.03.2010

"การบริหารมนุษย์ให้สุดยอด"




สุกัญญา รัศมีธรรมโชติ, วชิรพงษ์ สาลีสิงห์, สุธี พนาวร, ภูเบศร์ สมุทรจักร, สุรเชษฏ์ พลวณิช.  การบริหารมนุษย์ให้สุดยอด.  กรุงเทพฯ : สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2550.


เคยอ่านเอกสารเผยแพร่ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติมานิดหน่อย ชอบที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพัฒนาบุคคลากรให้มีความเป็นผู้นำ มีความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ  ยังแอบตัดเก็บบทความเหล่านั้นไว้อยู่เลย รอว่าสักวัน คงได้นำมาใช้กับชีวิตจริงสักที  แต่ก็นะ เรามันก็แค่ขี้ข้า พอได้เริ่มทำงานก็โงหัวไม่ขึ้น รอรับคำสั่งอย่างเดียวจนลืมเรื่องสำคัญอื่นๆ ในชีวิตไป  ไอ้ที่คิดว่าจะลองทำเพื่อพัฒนาตนเองก็เลยหายไปกับสายลม

ดิฉันเป็นคนที่เชื่อในเรื่องการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเป็นอย่างมาก เชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะนำความสงบและความเจริญมาสู่สังคม เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะมีระบบและสาธารณูปโภคดีแค่ไหน แต่ถ้าคนยังอ่อนแอ สิ่งดีๆ เหล่านั้นก็จะไม่มีใครนำไปใช้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้หรอก “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” “คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด” มันเป็นจริงได้ทั้งนั้น และมันจะสร้างความเสียหายให้แก่สังคมได้มากทีเดียวหากปลาใหญ่เป็นคนโง่ หรือคนฉลาดเป็นคนเลว  ปัญหาในสังคมที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ ก็มาจากความอ่อนแอของคนในสังคมเองนั่นแหละ อ่อนแอทางด้านสติปัญหา อ่อนแอทางด้านทักษะการหาข้อมูลและกลั่นกรองข้อมูล อ่อนแอในการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองและพวกพ้อง อ่อนแอทางศีลธรรม ฯลฯ

คำถามก็คือ แล้วมันเป็นหน้าที่ใครที่จะทำให้คนในสังคมเข้มแข็งขึ้น บางคนอาจจะตอบว่า เป็นหน้าที่กระทรวงศึกษา ต้องปฏิรูปการศึกษา บางคนบอกว่า สื่อต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ บางคนบอกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องอบรมบ่มนิสัยลูกตนเอง ครูและโรงเรียนแค่ให้ความรู้เฉยๆ ก็ว่ากันไป แต่ถ้าถามดิฉัน คำตอบคือ มันเป็นหน้าที่ของทุกคน ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเรามีหน้าที่จะต้องไปช่วยให้คนอื่นดีขึ้นหรอกนะคะ แต่หมายถึงว่าเราทุกคนมีหน้าที่ทำให้ตนเองเป็นคนดี ใฝ่หาความรู้เพื่อพัฒนาสมอง มีคุณธรรม และทักษะอะไรต่อมิอะไร เพื่อค้าหาสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ฟังดูดี แต่ทำจริงคงโคตรยาก แค่ทำให้คนอื่นเห็นด้วยว่าเราไม่ควรหยุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองก็ลมจะใส่แล้ว

สำหรับหนังสือ “การบริหารมนุษย์ให้สุดยอด” เล่มนี้น่าสนใจมาก ดิฉันไม่เคยเรียนมาทางด้าน HR ก็เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้อ่านมานี้สามารถทำได้จริงในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน แต่อ่านแล้ว รู้สึกเหมือนมันเป็นเรื่องที่ basic มากๆ มากจนดิฉันไม่คิดว่าวัตถุประสงค์ของการพิมพ์หนังสือเล่มนี้คือเพื่อให้ผู้ที่ทำงานในฝ่ายบุคคลหรือผู้ที่ร่ำเรียนมาทางนี้อ่านหรอก  แต่ดิฉันคิดว่ากลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ พวกผู้บริหาร เจ้านายใหญ่ๆ โตๆ ทั้งหลาย  คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มีพื้นความรู้ทางด้าน HR เลยก็ได้ แต่พวกเขาต้องทำงานบริหารคนอยู่ตลอดเวลา ต้องเลือกคน คัดสรรงานให้เหมาะกับคน ฯลฯ ดังนั้น ทักษะทางด้าน HR จึงจำเป็นอย่างมาก

หากพูดจากประสบการณ์ส่วนตัว การทำให้คนในองค์กรมีความสุข มีผลประกอบการสูงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่าย HR อย่างเดียว แต่ตัวเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เนื้องานมีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน อย่างองค์กรที่ดิฉันทำงานอยู่ตอนนี้ HR ดูแค่เรื่องเงินเดือน สวัสดิการ วันหยุดวันลา การเลื่อนขั้น การขอ work permit ฯลฯ แต่ไม่ได้ดูเรื่องจิตใจการทำงาน ไม่ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ไม่มีการฝึกฝนเรียนรู้เป็นขั้นเป็นตอน แต่ใช้วิธีการโยนลงน้ำเลย ว่ายได้ก็ไม่จม รอดไป ว่ายไม่ไหวก็จม  ส่วนเรื่องการพัฒนาทักษะ ทั้งการทำงานและการดำรงชีวิต  HR ของที่นี่ยกให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าของเจ้าหน้าที่คนนั้น  ดังนั้น หากใครเจอเจ้านายที่ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ก็โชคดีไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็อยู่ที่ตัวลูกน้องเองด้วย ว่าจะสามารถพัฒนาตนเองไปได้มากน้อยแค่ไหน บางคนเจ้านายเคี่ยวเข็ญแทบตาย แต่ทัศนคติบ้องตื้น ก็คงไปไหนไม่ได้ไกล

บทความหนึ่งในหนังสือที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษคือ “วิกฤติ Middle Management” โดยสุธี พนาวร  ที่ชอบเพราะมันโดนใจสุดๆ  คงเป็นเพราะดิฉันอยู่ในกลุ่ม middle management ของที่องค์กรนั่นแหละ ถึงได้เข้าใจปัญหาต่างๆ ที่ผู้เขียนอธิบาย  โดยเฉพาะเรื่องที่ตำแหน่งนี้เป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างฝ่ายต่างๆ  แม้แต่ลูกค้า ก็จะเข้าหาเราก่อนที่จะไปยิงไประดับบริหารเสียอีก  นอกจากนี้ หน้าที่อันสาหัสของคนทำงานระดับกลางแบบนี้คือ การที่เราจะต้องบันดาลทุกสิ่งอย่างที่เจ้านายต้องการให้เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่องค์กรหลายแห่ง กลับไม่เห็นความสำคัญของ “กองกลาง” สักเท่าไหร่  อย่างที่ทำงานของดิฉัน จะดูแลพนักงานระดับล่างมาก เพราะเงินเดือนจะน้อยกว่า เลยเห็นอกเห็นใจมากกว่า และจะให้ความสำคัญกับผู้บริหารระดับสูงมาก คือ มีรถให้ใช้ เบิกน้ำมันได้ตลอด มีอภิสิทธิ์เหนือมนุษย์ทั่วไป  ส่วนระดับกลางน่ะเหรอ ฝันไปเถอะ

ผู้เขียนบอกว่า ข้อเสียของการไม่ให้คุณค่าผู้บริหารระดับกลางคือ ในอนาคต องค์กรนั้นๆ จะเติบโตช้า เพราะได้ “ผู้บริหารสันดานเสมียน” คือเอาแต่ทำๆๆๆๆ ไม่ได้คิดหาอะไรใหม่ๆ เพราะเคยชินกับการทำงานให้สำเร็จมากกว่าการถ่ายโอนงานให้คนอื่น แล้วเอาเวลาไปคิดเรื่องการสร้างสรรค์ระบบงาน หรือนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับองค์กร สอนงานไม่เป็น พอลูกน้องทำอะไรให้ไม่ถูกใจ (เพราะตัวเองสอนงานไม่รู้เรื่อง) ก็จะเอามาทำเอง สุดท้ายลูกน้องก็งง สับสน เจ้านายก็ทำงานหัวฟูไปเลย  สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงที่ทำงานของดิฉันนะคะ อาจจะไม่เป็นทั้งหมดในองค์กร แต่มีบางส่วนงานที่เป็นเช่นนี้  ดิฉันรู้เลยว่า ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ชีวิตการทำงานคงจะลงเอยที่การเป็นผู้จัดการสันดานเสมียนแน่ๆ เพราะหลายครั้งทิ่ดิฉันเลือกที่จะทำงานนั้นๆ ให้เสร็จเอง แทนที่จะเสียเวลามานั่งอธิบายให้คนอื่นฟังว่าจะให้เขาทำอะไร

ส่วนบทความอื่นๆ ก็มีที่น่าสนใจบ้าง ซ้ำไปซ้ำมาบ้าง อย่างเรื่องการจ้างพนักงานเรื่องเดียว มีอย่างน้อย 3 บทความที่กล่าวถึง แสดงว่าสำคัญมาก หรือไม่ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาลงในหนังสือ (มองโลกในแง่ร้ายจัง)  แล้วก็มีข้อมูลขัดแย้งกันเองด้วยนะ เช่น เรื่องการตรวจสอบประวัติการทำงานกับบุคคลอ้างอิง จริงๆ มันเป็นเรื่องสำคัญ คงไม่มีใครเถียง แต่บทความหนึ่งบอกว่า จะได้ข้อมูลจริงๆ คงจะยาก แต่อีกบทความหนึ่งบอกว่า ยังไงก็ต้องทำ แถมยังบอกวิธีถามคำถามบุคคลอ้างอิงด้วย  ดิฉันก็คิดว่ามันสำคัญในระดับหนึ่งนะ อย่างน้อยก็บอกได้ว่า คนๆ นี้ยังพอจะมีคนที่ยินดีจะพูดแต่เรื่องดีๆ ของเขาอยู่ แต่ข้อมูลที่ได้รับน่ะสิ น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน จะมีบุคคลอ้างอิงกี่คนเชียวทีจะไม่โม้เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่ชอบมากๆ คือ การจ้าง superstar จากองค์กรอื่น  อ่านแล้วตลกดี มันเป็นเรื่องจริงนะ บางคนคิดว่าเราดึงคนเก่งมากๆ มาจากองค์กรอื่นเพื่อมาช่วยเรา องค์กรเราคงเจริญโรจน์โชติช่วง แต่มันก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ superstar ไม่ประสบความสำเร็จในองค์กรใหม่ได้ มีบอกสถิติไว้ด้วยว่า superstar หลายคนไม่สามารถประสบความสำเร็จเมื่อย้ายองค์กรใหม่ และใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างความสำเร็จได้ดังเดิม ดิฉันอ่านถึงตรงนี้แล้วหนาวเลย เพราะกำลังจะเปลี่ยนงาน ไม่รู้ว่าไปที่ใหม่แล้วจะรุ่งเหมือนอยู่ที่เก่าไหมนะ แต่อย่าไปคิดมากเลย ดิฉันไม่ใช่ superstar

สรุปง่ายๆ ก็คือว่าหนังสือเล่มนี้ ไม่น่าจะเขียนขึ้นมาสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้าน HR คนที่ควรจะอ่านคือ คนที่ทำงานฝ่าย HR แต่ไม่ได้จบมาทางนี้ และพวกเจ้านาย ผู้บริหารทั้งหลาย หากปฎิบัติตามคำแนะนำในหนังสือได้ เชื่อว่าคุณจะกลายเป็นผู้บริหารที่ดี เป็นหัวหน้าที่ลูกน้องรัก เคารพ และจะทำงานให้แบบถวายหัวเลย

เราไม่ได้จงใจเปลี่ยนพฤติกรรมลูกน้อง แต่มุ่งไปที่เปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดของเราเอง เพื่อให้เป็นคนดีขึ้น ซึ่งดิฉันเชื่อว่ามันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อเราเป็นคนดี มีจิตใจที่ดี มันจะต้องส่งต่อไปยังตัวลูกน้องได้บ้างล่ะน่า ในหนังสือ เขายังอ้างว่าความหงุดหงิด หรืออารมณ์อันเลวร้ายทั้งหลาย เป็นเชื้อโรคที่ติดต่อกันได้ ดังนั้น ความรู้สึกดีๆจากคนๆ หนึ่ง ก็น่าจะติดต่อไปยังคนอื่นๆ ได้ น่าทดลองทำดูนะคะ ไม่มีอะไรต้องเสียนี่นา

5.30.2010

"พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?"





ทรงกลด บางยี่ขัน, จิราภรณ์ วิหวา และ ณัฐชนน มหาอิทธิดล.  พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?.  กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก, 2553

คนโลกแคบๆ อย่างดิฉัน ไม่เคยเจอใครมีคำถามที่ว่า “พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่” เลย  แต่นั่นคงไม่ได้หมายความว่า เราเชื่อทุกสิ่งอย่างที่ได้ร่ำเรียนหรือได้ยินได้ฟังมาหรอก เพราะเรามีคำถามอีกมากมาย ซึ่งดิฉันคิดว่าตั้งต้นจากความสงสัยเรื่องบาปเรื่องกรรม โดยเฉพาะจากตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริงที่ว่า คนที่ทำแต่ความดีกลับไม่ค่อยได้อะไรตอบแทน แต่คนชั่วกลับรวยเอาๆ ไม่เห็นโดนธรณีสูบอย่างพระเทวทัตเลย  พุทธศาสนาเลยกลายเป็นเรื่องตำนานที่เอาไว้ข่มขู่ให้เรากลัวบาป กลัวผี กลัวว่าชาติหน้าจะเกิดเป็นเปรตเท่านั้นเอง ใครกลัวก็หมั่นทำความดีไป ใครไม่เชื่อก็ใช้ชีวิตโดยให้กิเลสตัณหาเข้าครอบงำ

แต่หากได้อ่านหนังสือ “พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?” เล่มนี้แล้ว จะรู้ว่าคำตอบของข้อสงสัยเหล่านี้ ไม่มีความสำคัญเลยเมื่อเทียบกับการพยายามศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วงกิเลสทั้งหลาย

หนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้  แสดงให้เห็นถึงอำนาจของคำถามและการตอบคำถามที่ท้าทายระดับปัญญา  เราคงเคยได้ยินครูพูดอยู่บ่อยๆ ว่ามีอะไรให้ถาม ไม่มีคำถามที่ถูกหรือผิด คำถามต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน จะมีสักกี่คนที่กล้าไปถามพระสงฆ์ว่า “พระพุทธเจ้ามีจริงไหมครับ” หรือ “พระเครื่องศักดิ์สิทธิ์จริงไหมครับ” หรือ “ศาสนาสอนว่าที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แล้วอย่างนี้เราควรมีความรักไหมคะ” ดิฉันจำได้ว่าเคยถามพระสงฆ์รูปหนึ่งว่า “ที่หนังสือบอกว่า สัตว์นรกจะได้รับส่วนบุญเฉพาะวันพระ จริงหรือเปล่าคะ” เพื่อนดิฉันที่ไปไหว้พระด้วยกันคงจะอายแทน เพราะหลังจากนั้นไม่เคยไปไหว้พระด้วยกันอีกเลย

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือ ไม่ว่าคำถามจะมาในรูปแบบใด จะอิงวิทยาศาสตร์แล้วมาเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา หรือจะมาจากความใคร่รู้ส่วนตัวในเรื่องที่หลายคนมองว่า “ถ้าไม่เชื่ออย่าลบหลู่” พระสงฆ์ทั้ง 9 รูปผู้ที่มาตอบคำถามนั้น จะตอบไปในแนวทางเดียวกัน คือไม่ตอบ yes หรือ no เลย ไม่มี ถูก หรือ ผิด

แต่คำตอบกลับนำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้น คำถามที่เราต้องกลับมาถามตัวเองก่อนที่จะสร้างปัญญาต่อไป (ถ้าเราพยายามจะเข้าใจจริงๆ แต่ถ้าไม่ก็จบอยู่แค่ที่ว่า “ท่านตอบไม่ตรงคำถามนี่หว่า”) ยกตัวอย่างจากคำถามที่นำมาเป็นชื่อหนังสือเลย “พระพุทธเจ้ามีจริงไหมครับ” พระประสงค์ ปริปุณฺโณ ตอบว่า “เธอเชื่อว่าปู่ของเธอมีจริงไหม แล้วปู่ของปู่ของเธอมีจริงหรือเปล่า แล้วปู่ของปู่ของปู่เธอล่ะ...” แล้วท่านก็ว่าต่อไปถึงเรื่องศาสนาคริสต์เชื่ออย่างนั้น ศาสนาอิสลามว่ากันอย่างนี้ ไปนู่นเลย แต่สำหรับดิฉัน คำตอบคือ เราจะไปยึดติดทำไมว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่จริง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เรามีหนทางดับทุกข์อยู่ หนทางที่เราจะต้องเห็นสิ่งที่เป็นความจริง นั่นคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีเกิดมีดับ ยอมรับและปล่อยวางให้ได้ ซึ่งก็จะเห็นว่า ไม่มีส่วนใดเลยที่จะต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า

สิ่งหนึ่งที่พระสงฆ์ผู้ปรีชาทั้ง 9 รูปพูดเหมือนกันคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราเชื่อ ท่านสอนให้เราทำ ให้ลองปฎิบัติตามดู แล้วจะเห็นเอง เห็นจริง เห็นแท้ เห็นแจ้งธรรมชาติ

ตอนหนึ่งในหนังสือที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษคือ ช่วงคำถามเกี่ยวกับวัยรุ่นกับธรรมะ ซึ่งเป็นตอนที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เป็นผู้ตอบ ท่านบอกว่า ต้องสร้างแรงบันดาลใจ คนจะสนใจพุทธศาสนาได้จะต้องมีครูที่ดี ต้องรู้ว่าธรรมะเป็นสิ่งวิเศษ และยิ่งถ้าได้เห็นกับตัวเองเลยว่าธรรมะช่วยแก้ปัญหาในชีวิตได้ คนๆ นั้นจะมีแรงบันดาบใจที่จะศึกษาธรรมะต่อไป  ดิฉันเห็นด้วยที่พระมหาวุฒิชัยบอกว่าการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาในเมืองไทยไปไม่ถูกทาง เพราะครูใช้วิชาพุทธศาสนาและการนั่งสมาธิเป็นการลงโทษ เด็กๆ จึงสร้างอคติกับพุทธศาสนาได้ง่าย

ประเด็นนี้เชื่อมโยงไปถึงช่วงคำถามเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ ในพุทธศานา เช่น การพรมน้ำมนต์ การเจิม ฯลฯ ซึ่งพระศรีญาณโสภณตอบไว้ว่า พิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานศพ งานก่อสร้างโบสถ์สร้างวิหาร ล้วนเป็นกระบวนการที่ดึงคนให้เข้าใกล้ธรรมะมากขึ้น เป็นเพียงเปลือกนอก คนหลายคนเข้าหาพุทธศาสนาก่อนด้วยการทำบุญ เข้าวัดมากขึ้น ถวายของให้พระแล้วเห็นผล ผลคือพระได้ของและเรามีความสุขขึ้น เราจึงเห็นวัดพยายามสร้างสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกญาติโยมให้เข้าวัดมากขึ้น เช่น จัดชุดสังฆทานไว้ให้เลย แถมยังมีคนนำสวด หรือบทสวดไว้บริการอีกต่างหาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรากลายเป็นคนที่สามารถละกิเลสหรือปล่อยวางเลย  ซึ่งดิฉันคิดว่ามันก็เหมือนกันการสร้างแรงบันดาลใจ คือเริ่มทำให้คนรู้สึก ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสนใจทำความดี ได้เริ่มศึกษา แล้วจึงเริ่มขยายต่อไปยังการปฏิบัติธรรมเพื่อปล่อยวาง ซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา

และเพียงแค่สองตัวอย่างที่กล่าวมานี้ก็ทำให้ดิฉันเข้าใจได้แล้วว่า คำถามที่เรามีเป็นเพราะเราไม่เคยเห็นผลของการทำดีหรือทำชั่ว ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วมีแต่ในละคร เราเข้าหาพิธีกรรมต่างๆ การทำบุญ การบริจาคเพราะเราคิดว่ามันจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่สบายใจอย่างเดียว แต่ในเมื่อเราทำแทบตาย กลับไม่เห็นว่าส่วนไหนของชีวิตเราดีขึ้น เราก็ต้องเกิดคำถามขึ้นเป็นธรรมดา

และเพียงแค่สองตัวอย่างนี้ก็น่าจะเพียงพอกับการอธิบายได้แล้วว่า ทำไมเราจะต้องไปสนใจด้วยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่มีจริง ตำนานต่างๆ ตั้งแต่พญานาคจำแลงกายเป็นมนุษย์เพราะอยากบวชเป็นพระสงฆ์ ไปจนถึงไฟจะล้างโลกทุกห้าพันปี เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือการจัดงานบุญ การเจิม การพรมน้ำมนต์ ฯลฯ ได้ผลจริงหรือไม่ เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเพียงสิ่งที่พยายามดึงเราให้เข้าหาความจริงอันเป็นแก่นแท้ของธรรมชาติและการดับทุกข์  แม้แต่การบวชเป็นพระสงฆ์ ก็อาจจะเป็นพิธีกรรมและการดำรงชีวิตที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงนิพพานเร็วขึ้น แต่ดังที่พระภาสกร ภูริวฑฺฒโนกล่าวไว้ว่าเราไม่ต้องครองผ้าเหลืองก็เข้าถึงนิพพานได้

นี่หมายความว่าอะไรเล่า สำหรับดิฉัน มันหมายความว่าหนทางแห่งการดับทุกข์นั้นมีอยู่แล้ว พุทธศาสนาได้เสนอหนทางนี้ไว้ให้แล้ว และหนทางที่จะเดินกันไปนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องหันกลับมาถามว่า “ต้องบูชาพระเครื่องไหม จะได้เข้านิพพานเร็วขึ้น” หรือ “บุญที่เราได้มาอยู่ที่ไหน” อีกต่อไป

สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้คงจั๊กจี้หัวใจไม่เบา ดิฉันคงบอกไม่ได้ว่านี่คือหนังสือพุทธศาสนาหรือไม่ มันไม่ได้มีบทสวดมนตร์แถมท้าย ไม่มีขั้นตอนการกำหนดลมหายใจทำสมาธิ ไม่มีคำนำที่ขออนุโมทนาบุญ หรือมีรายชื่อผู้บริจาคพิมพ์หนังสือ  แต่นี่เป็นหนังสือสำหรับผู้ที่สงสัยในพุทธศาสนา ผู้ที่คิดว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ เรื่องงมงาย

ดิฉันแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงใจ เพราะอ่านง่าย ให้ความรู้สึกเหมือนได้นั่งฟังเทศน์ในบรรยากาศสบายๆ ได้ถามคำถามอะไรก็ได้ที่เราอยากรู้โดยที่ไม่ต้องอายใคร รู้ก่อนที่เราจะไม่เหลือศรัทธาใดๆ ให้กับพุทธศาสนาอีกต่อไป

4.09.2010

"กลรักในเกมลวง"




แซนดร้า บราวน์ (เขียน).  อรทัย พันธพงศ์ และ พิธทพร (แปล).  กลรักในเกมลวง (Exclusive).  กรุงเทพฯ : แพรวสำนักพิมพ์, 2553.

บ้าบอคอแตกไปใหญ่แล้วชีวิตนี้ งานก็เร่ง เครียดก็เครียด แทนที่จะเอาเวลาอันมีค่ามาเคลียร์งานให้เสร็จ ดันมานอนอ่านนิยายประโลมโลกแบบรวดเดียวจบแปดชั่วโมง ซะงั้น... เลยต้องนอนดึก ตื่นไม่ไหว ไปทำงานสายอีก ซะงั้น  แล้วไอ้นิยาย “กลรักในเกมลวง” มันมีดีตรงไหน ทำไมถึงสามารถทำให้ผู้หญิงดีๆ คนหนึ่ง (อย่างดิฉันเนี่ย) เสียสุนัขไปได้ขนาดนั้น  คำตอบจากใจจริงคือ ไม่มีอะไรดีเป็นพิเศษหรอก แต่อยากรู้ตอนจบ เท่านั้นแหละ

นิสัยอย่างหนึ่งหลังจากที่อ่านนิยายจบคือ ชอบคิดว่าหากมีใครนำนิยายเรื่องนั้นมาแปลงเป็นภาพยนตร์ ดาราคนไหนจะรับบทตัวละครในนิยายนั้นบ้าง  หากเป็นนิยายไทย ก็จะคิดออกมาในรูปแบบละครทีวีมากกว่าภาพยนตร์  หรือบางทีดูภาพยนตร์ฮอลลีวู้ด ก็จะคิดว่าถ้าเป็นของไทย ดาราคนไหนจะมาเล่นบทเหล่านี้ เรื่องที่คิดเท่าไหร่ก็คิดไม่ออกเลย คือ The Matrix คิดไม่ออกจริงๆ ว่าถ้ามันเป็นเวอร์ชั่นไทย ใครจะเนียนได้เท่า Keanu Reeves

คราวนี้เช่นกัน ที่ดิฉันใช้เวลาช่วงข่มตาให้หลับคิดว่าดาราฮอลลีวู้ดคนไหนที่เหมาะจะมาเล่น คิดอยู่สองคืนได้ ถึงได้คำตอบในใจเองว่า ถ้านิยาย “กลรักในเกมลวง” เล่มนี้กลายเป็นภาพยนตร์ที่ไม่ได้ดัดแปลงบทหรือเนื้อหาอะไรมากนัก มันจะกลายเป็นหนังแอ๊กชั่น หรือหนังสืบสวนที่ไม่มีแก่นสารอะไร อย่าง Triple X หรืออาจจะกลายเป็นหนังชวนหัวอย่างเรื่อง Dick เลยด้วยซ้ำ  เพราะตัวเอกในเรื่องเป็นนักข่าวสาวที่เปิ่นแบบ Bridget Jones แต่ต้องมาสืบข่าวอาชญากรรมของคนระดับโลกอย่างประธานาธิบดีสหรัฐ  แล้วถ้าหนังมันออกมาเป็นแบบนี้จริง ดาราชายเจ๋งๆ คนไหนจะยอมมาเล่นให้ดูเป็นตัวตลก  ขอเล่าเรื่องนิดหน่อยแล้วกันค่ะ จะได้เข้าใจมากขึ้นว่าทำไมดิฉันถึงคิดอย่างนั้น

เรื่องมีอยู่ว่า ประธานาธิบดีหนุ่มสุดหล่อและภรรยาแสนสวยเพิ่งเสียลูกชายทารกวัย 3 เดือนด้วยโรคซิดส์หรือโรคไหลตายในเด็ก และคุณนายภรรยาก็สุดจะเศร้า ชีวิตดับวูบ อารมณ์อ่อนไหว แปรปรวน จนมีอยู่วันหนึ่ง คุณนายเรียกนักข่าวสาวชื่อ แบร์รี่ไปพบ และบอกกับนักข่าวว่า ทารกน้อยของเธอถูกฆาตรกรรม  แบรร์รี่เลยมุ่งมั่นจะสืบเรื่องราวทั้งหมดมาเป็นข่าวให้ได้ เพราะนี่คือโอกาสที่จะสร้างให้ตัวเองเป็นนักข่าวอันดับหนึ่ง  เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คนหลักๆ ที่จะเข้ามาในวงจรการสืบข่าวครั้งนี้ คือ
-          แบรร์รี่ นักข่าวสาวจากหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นที่มีชื่อเสียงในการทำข่าวมั่วซั่ว เว่อร์ จนกลายเป็นตัวตลกในวงการ
-          เดวิด ท่านประธานาธิบดีหนุ่มสุดหล่อ เท่ห์ ฉลาด ได้เกิดมารวยเพียบพร้อม แต่สู้ชีวิตจนได้ดีเพราะเมียและพ่อตาที่เป็นนักการเมืองอยู่ก่อนแล้ว
-          วาเนซซ่า ภรรยาประธานาธิบดี สตรีหมายเลขหนึ่งสุดสวยแสนหวาน แต่ลับหลังเป็นพวกมีปัญหาทางจิตอารมณ์แปรปรวน อ่อนไหวง่าย ชอบดื่มเหล้า ต้องพึ่งยากล่อมประสาท
-          คลีต พ่อตาประธานาธิบดี เป็นนักการเมืองมาตลอดชีวิต มีอิทธิพลเยอะมาก เล่ห์เหลี่ยมเพียบ
-          สเปนเซอร์ บอดี้การ์ดลึกลับที่อยู่เคียงข้างประธานาธิบดีเสมอ คอยให้คำแนะนำอยู่เบื้องหลัง และจัดการเรื่องต่างๆ ที่ประธานาธิบดีไม่สามารถทำได้ด้วยตนเอง
-          บอนดูแรนท์ อดีตบอดี้การ์ดอีกคนของประธานาธิบดี เป็นเพื่อนสนิทของสเปนเซอร์ แต่ตอนหลังผิดใจกัน ด้วยประธานาธิบดีนึกว่าไปเป็นชู้กับวาเนซซ่า และด้วยเรื่องผิดศีลธรรมอื่นๆ ของประธานาธิบดีและสเปนเซอร์ เลยลาออกไปอยู่คนเดียวในป่าในเขา
-          หมอแฟรงค์ ทาสรับใช้ประธานาธิบดี รักษาอาการอารมณ์แปรปรวนของวาเนซซ่าตามคำสั่ง
-          เพื่อนรักรุ่นแก่ของแบร์รี่ เป็นโรคมะเร็งปอดขั้นสุดท้าย ต้องหายใจด้วยถังอ๊อกซิเจนตลอด เป็นเหมือน mentor ของแบร์รี่

พอเริ่มสืบหาข้อเท็จจริง แบร์รี่พยายามเข้าหาสตรีหมายเลขหนึ่ง แต่ประธานาธิบดีกันเอาไว้ วาเนซซ่าเอาแต่กินเหล้าและเครียดจนเหมือนคนบ้า ประธานาธิบดีไม่รู้จะจัดการอย่างไร ทั้งแบร์รี่และพ่อตาก็จุ้นจ้านเหลือเกิน จนสุดท้ายต้องให้หมอแฟรงค์พาไปอยู่ในที่ๆ ไม่มีใครเข้าได้ถึงนอกจากหมอและพยาบาลอีกคนหนึ่ง  แบร์รี่จึงไปหาข้อมูลจากบอนดูแรนท์ จนเลยเถิดเกิดเรื่องใคร่เรื่องสวาท พอยิ่งรู้ข้อมูลมาก แบร์รี่ก็ยิ่งไม่ปลอดภัย หนีไปอยู่กับเพื่อนแก่ที่เป็นโรคมะเร็งปอด บอนดูแรนท์ตามเข้าเมืองมาช่วยสืบด้วยอีกคน เลยกลายเป็นสามเกลอวุ่นวาย สู้กับสเปนเซอร์กันไป วางแผนหลอกคนนั้น แอบนัดกับคนนี้ ส่งสัญญาณให้คนนู้น แต่ละแผนก็เลอะเทอะเหลือเกิน จนไม่อยากคิดว่าคนอย่างบอนดูแรนท์ (ที่ในนิยายบอกว่าฉลาดสุดยอด) จะคิดได้

ระหว่างการล้วงข้อมูล ความลับค่อยๆ เปิดเผยไปทีละเรื่อง เป็นเรื่องความชั่วร้ายของประธานาธิบดีในอดีต เบื้องหลังของสเปนเซอร์ เรื่องแย่ๆ ของพ่อตา เรื่องของหมอ หรือแม้แต่ความลับของวาเนซซ่า ซึ่งมันพัวพันอินุงตุงนังจนไม่รู้จะเล่าอย่างไร  และนี่น่าจะเป็นจุดแข็งจุดเดียวของเรื่อง คือมีความลับมากมายที่ล้วนนำพาให้คนเหล่านี้ต้องมาพัวพันกัน  กลายเป็นเรื่องอื้อฉาวสุดๆ  แต่ก็อย่างว่า นิยายสืบสวนสอบสวนจะมีอะไรไปมากกว่านี้  (ถ้าไม่นับ Silence of the Lambs นะคะ) ตอนสุดท้าย เจ้าสามเกลอกเอาตัววาเนซซ่าออกมาจากโรงพยาบาลเขตหวงห้ามนั้นได้ เอาไปส่งให้พ่อตา เรื่องทั้งหมดทั้งปวงจึงได้รับการเปิดเผยสู่สาธารณะ ผู้ผิดต้องรับกรรม แบร์รี่กลายเป็นนักข่าวใหญ่ ชื่อเสียงขจร บอนดูแรนท์ตัดสินใจย้ายกลับมาอยู่ในเมืองเพื่อจะได้อยู่ใกล้ๆ กับแบร์รี่ จบ!

จากเนื้อเรื่องเหล่านี้ คุณคิดว่าดาราฮอลลีวู้ดชายคนไหนจะยอมมาเล่นบทบอนดูแรนท์ล่ะ พระเอกสุดเท่ห์ ฉลาด เป็นทหารหาญเก่า แต่ต้องมาคอยดูแลยัยนักข่าวจอมเบ๊อะ ซึ่งยัยคนนี้ก็คอยแต่จะหาเรื่องงี่เง่ามาอยู่เรื่อย (นึกถึง Bridget Jones เข้าไว้) แต่ถ้าอยากปรับให้นิยายนี้กลายเป็นภาพยนตร์แนวสืบสวน แอ๊กชั่น ดราม่าดีๆ ต้องเปลี่ยนให้ยัยนักข่าวกลายไปเป็นบทรองๆ ไปเน้นความฉลาดและการต่อกรกันระหว่างบอนดูแรนท์กับสเปนเซอร์ ความบ้าของสตรีหมายเลขหนึ่ง และการใช้เล่ห์เหลี่ยมระหว่างประธานาธิบดีและพ่อตา เพราะเหตุการณ์การพัวพันที่ผู้เขียนสร้างขึ้นถือว่าดีอยู่แล้ว (ดีจนต้องอ่านรวดเดียวจบ และทำงานไม่เสร็จตามที่ตั้งใจไว้นั่นแหละ) และถ้าเรื่องออกมาเป็นอย่างนี้ จะมีดาราเจ๋งๆ ยอมมาเล่นเลย

อย่างท่านประธานาธิบดีอาจจะเป็น Brad Pitt (ทั้งๆ ที่ในหัวคิดถึงแต่ Ben Affleck เพราะติดภาพนักการเมืองภาพลักษณ์ดีเบื้องหลังเลวจากเรื่อง State of Play ไปเสียแล้ว) บอนดูแรนท์อาจจะเป็น Christian Bale สเปนเซอร์เป็น Mark  Wahlberg ส่วนสตรีหมายเลขหนึ่ง อยากให้ Reese Witherspoon มาเล่นมาก อยากเห็นเธอแสดงเป็นหญิงสาวไฮคลาสสติแตก เป็นพวกมีสองบุคคลิกมากๆ ที่สำคัญตามบทแล้ว วาเนซซ่าจะต้องเป็นสาวใต้ ซึ่งเหมาะเหลือเกิน  ถ้า Reese ไม่ยอมมาเล่นจริงๆ ขอเป็น Julia Stiles ก็ยังดี  ส่วนตัวละครแบร์รี่ ตอนแรกคิดว่าน่าจะเป็น Rachel McAdams หรือ Kirsten Dunst หรือ Julia Stiles แต่ดาราเหล่านี้ดีเกินไปถ้าจะให้บทนี้เป็นบทรองๆ  เอาเป็นว่าถ้าได้ cast นี้มาเล่นจริงๆ นะ หนังเรื่องนี้คงมีต้นทุนสูงลิบ เพราะแค่ค่าตัวดาราอย่างเดียวคงกระฉูดแล้ว

ถ้ามีเวลาว่างเยอะก็อ่านกันได้นะคะ ถือว่าเป็นการพักผ่อน แต่ถ้าขี้เกียจอ่าน บอกให้ก็ได้ ว่าสุดท้ายไม่มีใครรู้หรอกว่าใครฆ่าทารกน้อย แต่ประธานาธิบดีเคยมีประวัติฆ่าเด็กทารกมาก่อน และเด็กทารกคนนี้ก็ไม่ใช่ลูกของประธานาธิบดี แต่เป็นลูกของสเปนเซอร์ คนที่วางแผนทั้งหมดคือสตรีหมายเลขหนึ่ง

3.27.2010

"นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา"



ก้อง คาร์ ไว.  นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา.  กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก, 2548.


เปลี่ยนบรรยากาศมาอ่านหนังสือเบาๆ บ้างดีกว่า หลังจากที่บ้าบอคอแตกอ่านแต่หนังสือพัฒนาทักษะการเป็นมนุษย์เงินเดือนมาหลายเล่มอยู่  จริงๆ อยากอ่านนิยายมากกว่า แต่ไม่มีในสต๊อก นึกว่า “นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา” เป็นนิยาย และถ้าเป็นนิยายของทรงกลด บางยี่ขัน อาจจะออกแนวๆ และต้องมีเสียน้ำตาแน่นอน แต่ที่ไหนได้ มันเป็นการรวบรวมความเรียงที่เขาเขียนโดยใช้นามปากกา ก้อง คาร์ ไว ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เป็นรายสัปดาห์

ตอนที่เริ่มอ่านตรงคำนำ ไปจนถึงหน้าแรกๆ ยังรู้สึกเลยว่า “จะอ่านเล่มนี้จริงๆ เหรอวะ จะอ่านรู้เรื่องเหรอ อยากอ่านนิยายประโลมโลกมากกว่า” แต่สุดท้ายก็กัดฟันอ่านจนจบเรื่องที่หนึ่ง ต่อไปจนเรื่องที่สอง สาม สี่ ... สุดท้ายก็วางไม่ลง ชอบมากขนาดที่ว่าเอาใส่ไว้ในเสื้อตลอดเวลาได้เลย

ดิฉันยังจำคนที่ยุให้ซื้อหนังสือเล่มนี้ตอนงานมหกรรมหนังสือเมื่อปีที่แล้วได้เลย คงเป็นคนที่ทำงานในสำนักพิมพ์อะบุ๊ก พี่แกเป็นพวกติ๊สๆ แนวๆ ตอนยุให้เราซื้อ พูดกับเราแบบไม่มองหน้าด้วย แบบหยิ่งๆ เหมือนกับว่า “ขนาดคนเท่ห์ๆ อย่างข้ายังบอกว่าสนุก ถ้าเอ็งอยากเท่ห์ก็ต้องอ่านเล่มนี้แหละ”  แต่ที่ซื้อนี่ไม่ได้อยากเท่ห์แบบพี่แกนะ เรามีสไตล์ของเราอยู่แล้ว แต่จำไม่ได้เหมือนกันว่าซื้อมาทำไม

อ่านคำโปรยบนปกหนังสือ “รวมงานเขียนโรแมนติกที่สุดของทรงกลด บางยี่ขัน... รวมความเรียงหวานแบบเหงาๆ เศร้าแบบอุ่นๆ ระลอกแรก” แล้วแอบขนลุกนิดๆ คิดไปก่อนเลยว่าต้องเป็นงานแบบโคตรคูลตามแบบหนุ่มขบถรุ่นใหม่ที่ช่างคิด ช่างสังเกต ช่างถาม และช่างประชดประชันแหงๆ  แต่ที่ไหนได้ ดันเป็นเรื่องกุ๊กกิ๊กในใจของผู้ชายคนหนึ่ง  ไม่เห็นด้วยเลยที่จะบอกว่ามันเป็นเรื่องเศร้า เหงา น่าจะเปลี่ยนเป็น “รวมความเรียงหวานๆ แบบหนุ่มโสด สดชื่นแบบอบอุ่น ระลอกแลก”  แต่เห็นด้วยที่โรแมนติก

แต่ละคนคงมีนิยาม “โรแมนติก” ต่างกัน สำหรับดิฉัน ความโรแมนติกคือ การที่เราทำให้ช่วงเวลาหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ เป็นความประทับใจ เป็นความสุขตลอดไป  ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเวลาของเฉพาะคู่รักเท่านั้น แต่ทุกช่วงเวลาแห่งชีวิต กับเพื่อน กับพ่อแม่ พี่น้อง สัตว์เลี้ยง แม้แต่เวลาที่เราอยู่คนเดียว เราก็สามารถโรแมนติกได้ มันไม่ใช่ความช่างฝัน แต่มันเป็นความช่างคิดที่จะทำให้ช่วงเวลานั้นมีแต่ความสุข เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจแก่ตนเองและคนรอบข้าง

ความเรียงของก้อง คาร์ ไว คือตัวอย่างของความโรแมนติก แม้แต่น้ำฝนหยดเดียวก็ยังทำให้คิดถึงความสุข ความทรงจำที่ดีในเยาว์วัยได้ แถมยังเป็นความสุขที่เมื่อได้บอกเล่าแล้ว ยังทำให้คนอื่นมีความสุขได้อีก  หรือแม้แต่แค่อยากจะลองส่งโทรเลขดูสักครั้งในชีวิต คนที่ไม่โรแมนติก คงไม่สามารถมานั่งเล่าเรื่องได้เป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้หรอก

พอเขียนมาถึงตรงนี้ ดิฉันว่าอาจจะแบ่งคนได้เป็น 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือ คนที่ไม่มีความโรแมนติกเลย คือเห็นอะไรก็ไม่เคยเกิดความประทับใจ ไม่สามารถสร้างความสุข ความอิ่มเอม หรือสร้างแรงบันดาลใจใดๆ แก่ตนเองหรือคนรอบข้างได้เลย  ถ้าได้พูดคุยสนทนากับคนพวกนี้ คงไม่ได้อะไรที่มีคุณค่า ดีไม่ดีอาจจะได้ความมองโลกในแง่ร้ายเพิ่มมาอีก  กลุ่มคนที่สองคือ คนที่มีความโรแมนติก แต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้  จะโรแมนติกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าตอนนั้นอารมณ์ดีหรืออารมณ์เสียอยู่  แต่ก็ยังสามารถรู้สึกถึงความสุข ความประทับใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้  ส่วนคนกลุ่มสุดท้าย ก็คือคนอย่างก้อง คาร์ ไวนี่แหละ คือคนที่มีความโรแมนติก และยังสามารถถ่ายทอดความสุข ความประทับใจให้กับคนรอบข้างได้อีกด้วย

คุณคิดว่าในสังคมเราจะมีคนแต่ละกลุ่มร้อยละเท่าไร น่ามีทีมวิจัยลองสำรวจเรื่องพวกนี้ดูนะคะ ดิฉันคิดว่าน่าจะมีคนกลุ่มที่สองเยอะมากที่สุด เพราะดูแล้วคือน่าจะเป็นคนธรรมดา มีสุขบ้างเศร้าบ้าง ปะปนกันไป เล่าบ้างไม่เล่าบ้าง แล้วแต่อารมณ์ ถ้าเลือกที่จะเล่า ก็เล่ารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง คนฟังๆ แล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ใส่ใจ  แต่ถ้าเป็นคนประเภทที่สาม ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกและความประทับใจทั้งหลายแหล่ได้ออกมาเป็นเรื่องเป็นราว สัมผัสได้ รับรู้ได้ หล่อหลอมเข้าไปในจิตใจตนเองได้ น่าจะมีไม่เยอะเท่าไหร่ อาจจะน้อยกว่าคนกลุ่มที่หนึ่งด้วยซ้ำ

แต่ดิฉันคิดว่ามีคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนะคะ คือเรื่องศิลปการสื่อสาร การพูด การเขียน มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่มีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง มีหนังสือแบบฝึกหัดเป็นร้อยเป็นล้านอย่างนี้หรอก  ดิฉันเชื่อว่ามันเป็นทั้งเรื่องพรสวรรค์และพรแสวง ต้องฝึกฝนด้วย คนบางคนอาจจะเคยพูดเรื่องเดียวอยู่เป็นปี กว่าจะเข้าที่ ฟังแล้วเป็นเรื่องเป็นราว  หรืออย่างก้อง คาร์ ไวนี้ ดิฉันสันนิษฐานเอาเองว่า เขาก็ต้องฝึกฝนการเขียนมาบ้าง อาจจะอาศัยการอ่านเยอะๆ ฟังเยอะๆ หรือเขียนเยอะๆ ถึงจะมีวันนี้ได้

คำถามก็คือว่า แล้วคนที่สื่อสารเก่ง พูดเมื่อไรคนเคลิ้มเมื่อนั้น จำเป็นต้องเป็นคนโรแมนติกด้วยหรือเปล่า พระสงฆ์ที่เทศน์จนมีลูกศิษย์ตามไปฟังทุกหนทุกแห่ง ถือว่าท่านโรแมนติกไหม  อาจจะไม่จำเป็น แต่ดิฉันเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การที่เราสามารถทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา หรือได้รับแรงบันดาลใจอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากได้รับฟังหรือได้อ่านสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไป สิ่งแรก ซึ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องเชื่อในสิ่งที่เราสื่อสารอย่างหมดหัวใจ ไม่เช่นนั้นคนอื่นจะไม่สามารถสัมผัสถึงความจริงใจที่ออกมาทางแววตา น้ำเสียง รอยยิ้ม น้ำตา ฯลฯ เราได้ คงมีแต่ดาราระดับออสการ์ละมั้งที่น่าจะทำได้ แต่พวกเขาต้องฝึกฝนผ่านร้อนผ่านหนาวกันมากี่ปี

ดิฉันจัดทรงกลด บางยี่ขันอยู่ในกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ ในกลุ่มเดียวกับ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ทรงศีล ทิวสมบุญ วรพจน์ พันธ์พงศ์ ฯลฯ ที่พยายามจะลบภาพเดิมๆ ของการวิธีการเขียนหนังสือของเมืองไทย ซึ่งรวมไปถึงเนื้อเรื่องที่นำมาเขียน ประเด็นต่างๆ การค้นคว้าข้อมูล และการแสดงข้อมูลในวิธีการใหม่ๆ ปรากฏว่า นักเขียนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากค่ายเดียวกัน  (ว้ายยย ดิฉันเชยตลอดเลยเนอะ)

แต่พูดจริงๆ เลยนะ บางทีดิฉันไม่ค่อยกล้าอ่านผลงานการเขียนของบุคคลเหล่านี้หรอก พวกเขาเป็นคนมีชื่อเสียงมาก ผลงานของพวกเขาใครๆ ก็อยากอ่านอยากชื่นชม  เป็นปรากฏการณ์เหมือนที่วินทร์ เลียววาริณเคยสร้างไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน  ถึงแม้ผลงานของพวกเขาจะออกมาเพื่อปลดแอกการเขียน การใช้ภาษา และการรับรู้ข้อมูลของชีวิตรอบๆ ตัวให้กับคนรุ่นใหม่ แต่ดิฉันกลับกลัวที่จะต้องตกเป็นทาสทางความคิดของพวกเขา เหมือนกับคนหลายๆ คนที่แห่กันอ่านผลงานเหล่านี้  ดิฉันกลัวที่จะถูกกลืนกินไปกับวัฒนธรรมใหม่ที่กลายเป็น mainstream ไปแล้วนั้น จนไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับที่ดิฉันปฏิเสธที่จะอ่าน Harry Potter เพราะไม่ต้องการที่จะเป็นผลพวงของวัฒนธรรม commercial pop culture ข้ามชาตินี้

3.07.2010

"ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง"



 

ทันตแพทย์สม สุจีรา.  ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง.  กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552.



ทั้งๆ ที่ผู้เขียนท่านนี้มี best seller เยอะมาก อย่าง “เดอะ ท็อป ซิเครท” น่าจะกลายเป็นหนังสือยิดฮิตตลอดกาลของวงการไปแล้ว ทว่า ดิฉันก็แทบไม่เคยคิดจะอ่านหนังสือใดๆ ของทันตแพทย์สม สุจีราเลย  แต่ในภาวะที่หัวใจสลายเรื้อรังมากว่าหกเดือน ใยเลยดิฉันจะข้ามผ่านคำกล่าวที่ว่าผู้ชายด้อยกว่าผู้หญิงได้เล่า มันต้องการอะไรก็ได้ที่มาเสริม self-esteem

“...เพศหญิงมีทวาร 6 ที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า เธอมองเห็นสีสันได้กว่า 200 เฉดสี แต่เพศชายแยกได้ไม่ถึง 70 สี ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมผู้หญิงจึงหลงใหลสีฉูดฉาดของเครื่องแต่งกาย ชื่นชอบความวูบวาบของเครื่องเพชรมากกว่าผู้ชาย ...ผู้หญิงบางคนจะพูดโดยเฉลี่ยวันละ 20,000 คำ ถ้าน้อยเกินไปเธอจะอึดอัด ในขณะที่ผู้ชายพูดประมาณ 7,000 คำต่อวัน แม้น้อยกว่านี้เขาก็รู้สึกเฉย...”

แม้ข้อความข้างบนนี้จะจี้ใจดำความเป็นหญิงไปบ้าง แต่นี่แหละ คือสิ่งที่จะช่วยเยียวยาให้ความมั่นใจในความเป็นผู้หญิงของตนเองกลับคืนมา ยังมีอีก ผู้หญิงจมูกไวมาก ยิ่งตอนที่มีประจำเดือน คือเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จมูกจะไวเป็นพิเศษ สามารถแยกกลิ่นได้ 4,000 ชนิด ในขณะที่ผู้ชายแยกได้แค่ 2,000 ชนิด  ครึ่งต่อครึ่งเลยนะเนี่ย

แต่ความหมายอันแท้จริงของการมีทวารอันทรงพลังก็คือ เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะสร้างกิเลสได้มากกว่าผู้ชายในทุกทวาร หรือผู้หญิงสามารถสร้างกรรมให้ตัวเองมากกว่าผู้ชายได้หลายเท่า

ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเองเป็นหนังสือประเภท เรียนธรรมะแบบคนรุ่นใหม่ คนรุ่นที่ถูกกล่อมด้วยความคิดที่ว่าคนรุ่นใหม่ย่อมฉลาดกว่าคนรุ่นเก่า และมีหน้าที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ไม่ยอมซูฮกให้กับคำสอนเก่าๆ คนรุ่นที่นึกว่าตัวเองเก่ง เท่ห์ เพราะหาหลักฐานที่จับต้องได้มาหักล้างความรู้เก่าๆ แล้วบอกว่าเราฉลาดกว่า เรารู้มากกว่า เราเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากกว่า  นี่ดิฉันอคติกับคนรุ่นตัวเองมากเกินไปหรือเปล่านะ

สิ่งที่ทันตแพทย์สม สุจีราเผยแพร่มาโดยตลอด คือ พิสูจน์ว่าพุทธศาสนาสามารถอธิบายทุกสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้  และพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมชาติสูงสุด จริงแท้ที่สุด ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน เป็นการรวบรวมข้อมูลการวิจัยการรับรู้ผ่านทวารต่างๆ ของเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย เพื่อยืนยันว่า ผู้หญิงมีกรรมมากกว่าผู้ชาย การได้เกิดมาเป็นผู้หญิงคือการที่ต้องมาชดใช้กรรมมากกว่าการได้เกิดมาเป็นชาย

ดิฉันได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธ ศาสนาอยู่ไม่มากก็น้อย มีอยู่เล่มหนึ่ง พยายามอธิบายว่ากรรมมีจริง แต่เล่าเป็นแนวนิทาน ว่าเคยมีคนๆ นี้ ไปพรากลูกพรากเมียเค้ามา ไม่ทำมิดีมิร้ายหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาตนในชาติโน้นชาตินี้ คนนี้เลยต้องมาใช้กรรมตั้งหลายชาติ ชาติถัดมาเกิดมาเป็นชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ชาติถัดมาเป็นชายที่โดนข่มขืน ชาติถัดมาก็เป็นนู่นเป็นนี่ โดนนั่นโดนนี่ จนเกือบจะหมดกรรมนี้แล้ว มาถึงชาติสุดท้ายที่จะต้องใช้กรรมนี้ คือ ชาติที่จะต้องเกิดมาเป็นหญิง  แต่หนังสือเล่มนั้นกลับไม่ได้อธิบาย หรือให้เหตุผลใดๆ ว่า แล้วทำไมจะต้องเป็นผู้หญิงด้วย

คุณแม่ของดิฉันเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาก็เคยบอกกับดิฉันเช่นนี้เหมือนกัน คือ คนที่เกิดมาเป็นผู้หญิงคือคนที่มีกรรม  พอดิฉันถามว่าทำไม คุณแม่บอกว่า เพราะต้องเป็นเพศที่อุ้มท้อง คลอดลูก ต้องทนเจ็บกายมากกว่าผู้ชาย  คุณแม่ยังบอกอีกว่า ภิกษุณีมีศีลที่ต้องรักษาตั้ง 300 กว่าข้อ แต่ของภิกษุ มีแค่ 200 กว่าข้อเอง ก็น่าจะเป็นไปได้เนอะ แต่คำตอบของคุณแม่ยังไม่สามารถทำให้ดิฉันหมดข้อสงสัยไปได้

กลายเป็นว่าหนังสือ ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง เล่มนี้ที่ช่วยให้ดิฉันกระจ่างขึ้น  ซึ่งเมื่อย้อนดูตัวเองแล้ว อาจจะเป็นจริงก็ได้ ดิฉันเป็นคนที่หลงใหลในรูป รส เสียง เป็นคนที่ชอบสีสันอันฉูดฉาด ชอบฟังเพลงเพราะๆ ชอบเสาะหาของกิน ไวน์แดงเจ๋งๆ เหล้าวิสกี้เริ่ดๆ เวลาจะไปเที่ยวต้องขอบรรยากาศก่อน คือน่าจะเป็นคนที่ได้ใช้ทวารทั้ง 6 ของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะอย่างนี้ละมั้ง ถึงมีแฟนได้ไม่นาน มีแต่คนทิ้ง กรรมชั่วของดิฉันมันเยอะเสียเหลือเกิน ว่าไปนู่น

ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่าผู้เขียนต้องการจะบอกอะไร แต่ดิฉันก็ยังอดภูมิใจน้อยๆ ไม่ได้ ที่ธรรมชาติสร้างผู้หญิงให้แข็งแรงกว่าผู้ชาย  ดิฉันคิดว่า การที่ผู้หญิงสามารถรับรู้สิ่งรอบข้างจากทวารทั้ง 6 ได้มากนั้น มันก็อาจจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถรับรสพระธรรมได้มากขึ้น เข้าใจความทุกข์ ความสุข ความเศร้า ความสงบ ได้มากขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้น แต่เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องตัดความเชื่อในความเป็นอัตตาของทุกอย่างออกให้ได้ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าผู้หญิงก็ต้องทำได้ดีไม่แพ้ผู้ชายเหมือนกัน  แต่เรื่องตลกก็คือ ในระหว่างที่ดิฉันมีความคิดเหล่านี้อยู่ มันกลับหมายถึงการยึดติด การเอาชนะ ซึ่งเป็นการสร้างเวทนาผ่านทางทวาร ตา และ ใจ เหมือนกัน  ใช่หรือไม่ การปฏิบัติธรรมนี่ยากจริงๆ เลย

ดิฉันพยายามที่จะเป็นคนดีอยู่เสมอ เป้าหมายแรกๆ ของคนกรรมหนาอย่างดิฉัน ก็แค่สามารถสวดมนตร์อย่างสม่ำเสมอ รักษาศีลห้า ทำบุญตักบาตร ให้ได้เป็นนิจ เท่านี้ก็ภูมิใจแล้ว หลังจากนั้นก็ก้าวไปยังเป้าหมายต่อไป คือการหัดทำสมาธิ การทำวิปัสนา  ดังนั้น ดิฉันจะมีความสุขความยินดีอยู่เสมอที่เห็นคนตั้งใจทำความดี เห็นคนใส่บาตร คนที่ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง คนที่มีน้ำใจ รักพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงอย่างถูกต้อง คนที่ต้องการหาความรู้ที่ดี พัฒนาตนเองอยู่เสมอ และจะคอยให้กำลังใจคนรอบข้างอยู่ตลอด  ดิฉันสงสารคนที่ทำแต่กรรมชั่วมาก หรือคนที่คิดแต่สิ่งเลวร้าย จับผิด หาข้อเสียของคนอื่น  ซึ่งดิฉันอาจจะอินกับเหตุการณ์เหล่านี้มาก เพราะทวารทั้ง 6 ทำงานได้ดีเสียเหลือเกิน แต่คำถามคือ สิ่งเหล่านี้คือการยึดติดการการรับรู้ทางทวารทั้ง 6 หรือไม่

อีกสิ่งที่ดิฉันทำคือ สำรวมให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง พูดแต่สิ่งดีๆ ซึ่งก็คือการรักษาศีลข้อ 4 นั่นแหละ พออ่านหนังสือเล่มนี้เลยรู้สึกว่า นี่เรากำลังจะทำตัวเป็นผู้ชายแบบในหนังสือเลย พูดน้อย ไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เลือกฟัง เลือกจำแต่สิ่งที่ดี  แต่สุดที่รักคนที่เพิ่งจะร้างลากันไปกลับเป็นผู้ชายที่พูดมากเสียเหลือเกิน เชื่อเลยว่าพูดมากกว่าวันละ 7,000 คำล่ะ และเป็นคนที่จะเอารายละเอียดเลวร้ายของคนอื่นมาเป็นสิ่งให้ตนเองทุกข์ใจอยู่ เสมอ ดิฉันแทบจะไม่ใช้ความสามารถทางทวารทั้ง 6 ไปจับผิด ไม่ไปสูดดมว่าแอบไปเจอกิ๊กมาหรือเปล่า หรือแอบไปกินเหล้าแล้วไม่ชวนมาหรือเปล่า ไม่เอาใจไปจำเรื่องเก่าๆ ที่เคยเถียงกัน หรือเรื่องที่เป็นความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีบ้างที่สุดท้ายก็ต้องทะเลาะกันเถียงกันเพราะทนไม่ไหว แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะตัดการรับรู้ กิเลส และเวทนา แต่หากได้อยู่ท่ามกลางผู้ที่มีความพยายามเดียวกัน หรือในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการไปถึงเป้าหมายแห่งการบรรลุ คงไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้

ดิฉันยังมีคำถามอีกเยอะเลยหลังจากอ่าน หนังสือเล่มนี้จบ ส่วนใหญ่คงเป็นคำถามเกี่ยวกับพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรม เพราะดิฉันมีความรู้เรื่องนี้เพียงน้อยนิดเท่านั้น  แต่คิดว่าควรจะจบการเขียนถึงหนังสือ ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเองของทันตแพทย์สม สุจีรา ไว้เท่านี้ก่อนดีกว่า เพราะเดี๋ยวมีคนบ่นว่ายาวเกิน  แต่บอกตรงๆ ด้วยทวารปากเลยค่ะ ว่าเป็นหนังสือที่ดี อ่านง่าย มีเกร็ดความรู้มากมาย ซึ่งถ้าไม่สนใจพุทธศาสนาก็ยังอ่านได้ หากมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาและธรรมะพอสมควร น่าจะอ่านได้เร็วและไม่สับสนเลยค่ะ

2.27.2010

"รอยประทับ"


นฤมล เทพไชย.  รอยประทับ.  กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ, 2531.


ได้หนังสือ รอยประทับโดยนฤมล เทพไชย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ จากร้านหนังสือเล็กๆ ในเมืองลำปลายมาศ จ. บุรีรัมย์ ด้วยความซุกซนของสายตาแท้ๆ เชียว  ตั้งใจแค่จะไปซื้อนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ แต่ก็ยังมิวาย กวาดสายตาไปทั่วๆ แผงหนังสือว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง  ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะไม่ซื้อหนังสือใดๆ เลย เพราะงานสัปดาห์หนังสือจะมาอีกไม่ช้าแล้ว แต่หน้าปกหนังสือ รอยประทับ อันสวยสดงดงามกลับทำให้ต้องเปลี่ยนใจจนได้ 

แต่เรื่องตลกก็คือ หลังจากที่ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้จบ จึงเข้าไปยัง website ของ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ พบข้อความที่บอกว่า หนังสือ รอยประทับ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (ที่ดิฉันถืออยู่ในมือ) พิมพ์จากไฟล์ที่ผิดพลาด สำนักพิมพ์เรียกคืนหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ไปทำลาย และจะส่งเล่มใหม่ที่ตีพิมพ์อย่างถูกต้องมาให้โดยเร็ว  ข้อความนี้เขาแจ้งตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่แล้ว  แล้วจะเป็นอย่างไรล่ะนี่ ถ้าดิฉันได้เล่มใหม่มา ก็ต้องมาอ่านใหม่เหรอ หวังว่าที่มีข้อผิดพลาดนี่คงไม่ใช่เนื้อเรื่องผิดนะ ไม่ใช่แบบพระเอกไม่ใช่คนนี้ คนเขียนเขาเขียนผิด จริงๆ คนนั้นเป็นโจร ส่วนนางเอกตาย อะไรแบบนี้อ่ะ ไม่เอานะ

ไม่ได้เห็นหนังสือจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อมานานแล้ว หรืออาจเป็นเพราะดิฉันมัวแต่ไปตื่นเต้นกับหนังสือหน้าปกเก๋ๆ ดีไซน์สวยๆ ชื่อเรื่องเท่ห์ๆ จากสำนักพิมพ์วัยรุ่นติ๊สๆ ก็เป็นได้ จึงทำให้มองข้ามและลืมเลือนหนังสือสุดคาสสิกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ทั้งๆ ที่ตอนเด็กๆ อ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเยอะมาก ตอนนั้นเป็นช่วงร้านหนังสือดวงกมลสมัยกำลังรุ่งเรืองเลย

บอกตามตรงว่าเลือกหนังสือ รอยประทับเพราะชอบหน้าปก รูปเล่ม และการหีบห่อ คำโปรยที่บอกว่า เป็น นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ... จากแดนอินเดียแดงสู่สยาม ... จากความทรงจำของแมรี่ เลาเกอสัน มีส่วนในการตัดสินใจเสียเงินแบบปัจจุบันทันด่วนเล็กน้อย นึกว่าชาวอินเดียแดงมาเที่ยวสยาม แต่แมรี่ เลาเกอสันนี่ใครก็ไม่รู้จัก ความจำเธอดีแค่ไหนก็ไม่รู้ เลอะเลือนหรือเปล่า หรือมาสร้างเรื่องนวนิยายหลอกคนไทย หลอกฝรั่งแบบ Anna and the King of Siam

แต่ความจริง ดิฉันไม่มีความคิดเหล่านี้ตอนที่อ่านหรอกค่ะ เพราะความที่เขียนออกมาในแนวนิยาย มันเหนือความจริงอยู่แล้ว มันมีแต่เรื่องที่เป็นเหตุการณ์สำคัญ สิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับคนๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นจะมีแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่อยากให้ลูกหลานและชนรุ่นหลังจดจำ

รอยประทับเป็นเรื่องชีวิตผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่ง ชื่ออัลธา เอกิ้น  เธอเกิดและเติบโตในช่วงที่คนขาวเริ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานวางรกรากในดิน แดนอเมริกา ที่ซึ่งชาวอินเดียแดงเป็นผู้ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว ชีวิตในวัยเด็กของเธอ แม้จะยังไม่รู้ความ แต่ก็ต้องพบเจอกับความรุนแรงและความตายของคนในครอบครัวเสมอ บิดาของเธอหายตัวไปขณะที่เดินทางไปเจรจาซื้อที่และไม่กลับมาอีก มารดาเลี้ยงดูเธอและพี่น้องมาอย่างยากลำบาก จนแต่งงานใหม่กับชายที่ไม่มีใครรู้หัวนอนปลายเท้า แต่เขาก็เป็นพ่อและสามีที่ดี เธอมีน้องชายฝาแฝดต่างบิดา แต่ฝาแฝดทั้งสองก็ตายไปตั้งแต่ยังแบเบาะด้วยโรคระบาดคอตีบ ตัวเธอเองและพี่น้องอีกสามคนก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด

เมื่อโตมา ชอบร้องเพลง เล่นออร์แกน ครอบครัวเธอเป็นชาวคริสเตียนที่เคร่งครัด เธอได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากบาทหลวงที่ประจำอยู่ในเมืองที่เธออาศัยอยู่ เขาแนะนำให้เธอพยายามเรียนหนังสือให้จบ เธอพบรักกับชายหลายคน แต่ลงเอยกับคนที่มีเป้าหมายเป็นหมอสอนศาสนา หรือพวกมิสชันนารี เธอเรียนจบ แต่งงานกับเขา และไปฮันนีมูนกันที่นิคมอินเดียแดงเพื่อไปเผยแพร่ศาสนา พวกเขามีลูกน้อยหนึ่งคนแต่ก็ตายไปตั้งแต่วัยแบเบาะ ด้วยความเสียใจกันอย่างยิ่งยวด ทั้งสองตัดสินใจทิ้งอดีตอันเศร้าหมองไปยังประเทศสยาม เป็นพวกมิสชันนารีรุ่นแรกๆ ที่เข้าไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากไปถึงประเทศสยามได้ไม่ถึงเดือน สามีของเธอก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่ารุนแรง เธอไร้ที่พึ่ง แต่ก็พยายามที่จะอยู่ในสยามต่อไปให้ได้ตามประสงค์ของสามี กาลเวลาผ่านไป เธอก็พบรักใหม่ เป็นรักครั้งสุดท้าย สามีใหม่ของอัลธาคือ จอห์น เอกิ้น ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เป็นคู่แข่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ทั้งสองได้ตั้งรกรากอยู่ในเมืองสยาม ทิ้งสิ่งดีงามและความประทับใจแด่ประเทศที่เธอคิดว่าเป็นบ้านจนวาระสุดท้ายของชีวิต

คนที่เล่าเรื่องนี้คือ แมรี่ เลาเกอสัน ซึ่งเป็นบุตรสาวจอมแก่นของอัลธา เอกิ้น แมรี่เกิดและเติบโตในสยาม ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากมารดาและเหล่ามิสชันนารีในสยามทั้งหลาย หลังจากนั้นไปเรียนหนังสือต่อที่อเมริกาจนจบ และกลับมาทำงานกับกลุ่มมิสชันนารีในสยาม เป็นอาสาสมัครที่ปรึกษาและสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เธอเดินทางไปมาระหว่างสยามและอเมริกา แต่ก็คิดเสมอว่าสยามคือบ้านของเธอ

ประเด็นสำคัญที่โดดเด่นในนวนิยายเรื่องนี้คือ ความรัก ความตาย และคนขาวที่เชื่อว่าความรับผิดชอบใหญ่หลวง คือนำวิทยาการและศาสนาคริสไปเผยแพร่แทนพระเจ้า ซึ่งมีผลต่อการตัดสินสังคมที่มีความเชื่อและการใช้ชีวิตต่างจากตนเอง 

สำหรับอัลธาแล้ว คนสยามงมงาย ล้าหลัง ไม่จริงจังกับเรื่องใดๆ  เธอรับไม่ได้ที่ผู้หญิงชาวสยามชอบเอ่ยยกลูกให้เธอเลี้ยง  เธอหงุดหงิดทุกครั้งที่ชายชาวสยามจบการสนทนาเรื่องคอขาดบาดตายด้วยการพูดจาติดตลกและการหัวเราะ เธอไม่ชอบที่เห็นหญิงชาวสยามเปิดเผยทรวงอกในที่สาธารณะ ชายชาวสยามใช้ผ้าขาวม้ากับทุกสิ่ง ล้างมือล้างหน้ากับน้ำในคลอง เธอเกลียดการกินอาหารด้วยมือ หรือดื่มน้ำฝนที่ไม่ได้ต้มก่อน เธอคิดเสมอว่าเธอจะต้องช่วยให้ชาวสยามเป็นชาติที่มีอารยะเฉกเช่นชาวตะวันตกอย่างเธอ 

สิ่งที่เห็นกันตลอดเรื่องคือ พวกมิสชันนารีและครูชาวตะวันตกสมัยนั้น รักและช่วยเหลือกันเสมอ พวกเขามีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีการประชุม การวางแผนเรื่องบุคคล การจัดสรรงบการเงินอย่างเป็นขั้นตอน ชัดเจน  พวกเขาดูแคลนชาวต่างชาติที่ได้สร้างครอบครัวกับหญิงชาวสยาม  และคิดว่าพวกเขาเท่านั้น ที่จะช่วยให้ชาวสยามรู้จักการแพทย์สมัยใหม่ รู้จักการใช้ยา การฉีดวัคซีน การบำรุงครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  และพวกเขาเท่านัน ที่จะช่วยชี้ทางสว่างให้กับชีวิตชาวสยามโดยผ่านการศึกษาแบบตะวันตก มีโรงเรียนใหญ่ อาคารกินนอนของนักเรียน การเข้าโบสถ์ สวดมนตร์และร้องเพลงแด่พระเจ้าทุกวันอาทิตย์

พวกมิสชันนารีแต่งงานกันเอง การแต่งงานกับผู้ที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว หรือมีลูกติดจากคู่สมรสเก่าเป็นเรื่องที่รับได้ พวกเขาแต่งงานกันเพราะต้องการความช่วยเหลือจากกันและกัน พวกเขาไม่ไว้ใจคนสยาม พวกเขาเลือกเด็กชาวสยามที่จะมาเป็นเพื่อนกับลูกของพวกเขา และเมื่ออายุประมาณ 12 ปี พวกเขาจะส่งลูกไปรับการศึกษาในประเทศบ้านเกิด เพราะพวกเขากลัวว่าลูกจะพูดภาษาไทยคล่องเกินไป และกลายเป็นคนเปิ่น ล้าหลังอย่างชาวสยาม  ถึงแม้ว่าพวกลูกๆ ของจอห์นและอัลธาจะกลับมาเมืองสยามกันหลังจากเรียนจบ พวกเขายังคงเลือกแต่งงานกับคนขาวด้วยกัน การคบหาสมาคมกับชาวสยามเปรียบเสมือนการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า เป็นเหมือนเจ้านายกับลูกน้อง เหมือนผู้มีพระคุณกับผู้ที่ต้องตอบแทนบุญคุณ ไม่ใช่เพื่อนอันเท่าเทียม

สำหรับเรื่องความรักระหว่างชายหญิงมีให้เห็นกันตลอดเรื่อง ตั้งแต่ยุคคนขาวไล่คนอินเดียแดงไปอยู่ในนิคม มาจนถึงเมื่อเธอมาอยู่เมืองสยาม แม่ของอัลธาแต่งงานใหม่กับชายที่อายุอ่อนกว่าเป็นสิบปี เพียงเพราะเขาคิดว่าช่วยเหลือเธอในการเลี้ยงดูครอบครัวได้ และเธอก็ต้องการคนมาช่วยหาเลี้ยงลูกๆ และทำการเพาะปลูก  ความรักระหว่างอัลธาและสามีคนแรกของเธอ เป็นความรักอันบริสุทธิ์ของชายหญิงในเรื่องที่สุดแล้ว เป็นความรักที่เกิดเพราะทั้งสองฝ่ายต้องการจะอยู่ใกล้ชิดกัน ไม่ใช่เพราะต้องการความช่วยเหลือจากกันและกัน  ส่วนกับสามีคนที่สอง ที่มาพบกันหลังสามีคนแรกเสียชีวิต แต่งงานกันเพราะต้องการความช่วยเหลือ ส่วนคู่รักมิสชันนารี ทั้งบรรดาแหม่มๆ และหมอๆ ทั้งหลาย เกิดเพราะต้องทำงานใกล้ชิดกัน พวกเขาไม่มีใครอีกแล้วที่เข้าใจกัน พูดภาษาเดียวกัน มีอารยะเหมือนกัน  ชายชาวอังกฤษคนหนึ่งต้องนอกใจภรรยาที่อยู่อังกฤษ และไปมีลูกกับหญิงชาวสยาม พวกเขามองว่าเป็นเรื่องผิด สุดท้ายเขาเอาลูกของเธอไปเลี้ยงกับลูกของเขาในอังกฤษ

ความตายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีให้เห็นอยู่ตลอดเรื่อง ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตของคนๆ หนึ่งจะพานพบความตายได้เยอะขนาดนี้ ในช่วงแรก เป็นความตายจากสงครามและความขัดแย้ง ต่อมาเป็นความตายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ  พ่อแม่ต้องฝังศพลูก สามีต้องฝังศพภรรยา ภรรยาต้องฝังศพสามีทั้งๆ ที่เพิ่งมีลูกด้วยกัน ความตายแม้จะเป็นเรื่องเศร้า แต่ดูเหมือนคนสมัยนั้นเคยชินกับความตายมากกว่าคนสมัยนี้ พวกเขาเศร้า แต่เพราะรู้ว่าโรคภัยมากมายที่รักษาไม่ได้ พวกเขาทำใจได้แม้ตัวเองจะต้องเป็นคนที่จากไป

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราได้รับจากคณะมิสชันคืออะไรกัน ศาสนาที่พยายามเข้ามาพร้อมกับความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต แต่ก็ไปไม่ไกลดังที่ตั้งใจไว้ ประเทศไทยในปัจจุบันก็ยังเป็นประเทศพุทธศาสนาอยู่ เราได้วัฒนธรรมการดูแลรักษาสุขภาพจากโลกตะวันตก การมีโรงพยาบาล การไปหาหมอ การผลิตยา ทดลองยาใหม่ๆ  เราได้วัฒนธรรมการศึกษาจากตะวันตก เรามีโรงเรียน มีครู มีแบบเรียน เด็กๆ ทุกคนต้องไปโรงเรียน 

สมัยก่อน พวกเขายื่นข้อเสนอให้เรานับถือศาสนาของพวกเขา โดยแลกกับการรักษาชีวิต และการหยิบยื่นความรู้วิทยาการสมัยใหม่ให้ลูกหลานเรา แล้วทุกวันนี้ล่ะ พวกเขาให้อะไรกับเรา และต้องการอะไรจากเรา