8.14.2010

"ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่"



 

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา.  ผู้นำ อำนาจ  ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่.  กรุงเทพฯ : openbooks, 2552.


ไม่ได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองมานานมากแล้ว จะมีก็แต่อ่านจากคอลัมน์นิตยสารทั่วไป  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมืองญี่ปุ่น  หนังสือแนวนี้เล่มสุดท้ายที่นึกออกน่าจะเป็น “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ของวินทร์ เลียววารินทร์ ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีหนึ่ง (ไม่อยากบอกเลยว่ามากกว่าสิบปีมาแล้ว) แต่หนังสือเล่มนั้นกับ “ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่” เล่มนี้มีแนวทางการเขียนแตกต่างกันอยู่ดี แต่อารมณ์สุดท้ายที่ได้หลังอ่านจบทั้งสองเล่มเหมือนกัน

โดยส่วนตัวแล้วชอบ “ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่” มากค่ะ ได้มาตอนงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นปีนี้ จำไม่ได้แน่ชัดว่าตัดสินใจซื้อเพราะอะไร แต่รู้สึกตื่นเต้นกับหนังสือเล่มนี้มาก  ไม่ได้อ่านทันทีหลังจากกลับมาบ้าน เพราะยังมีอีกหลายเล่มที่ซื้อมาก่อนหน้านั้น ต้องเรียงตามคิว แถมยังมีเล่มอื่นๆ ที่ซื้อและอ่านลัดคิวอีก  เลยได้มาอ่านจริงๆ ตอนหลังเกิดเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดงยึดราชประสงค์ เผาบ้านเผาเมืองพอดี  การได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเคียงคู่กับความรุนแรงอยู่เสมอ เหมือนดาวคู่ฟ้า ต่างกันก็แค่คู่แรกไม่เคยสร้างความจรรโลงใดๆ ให้กับสังคมเลยสักนิด

หนังสือเล่มนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความรุนแรง การเข่นฆ่า หักหลัง ทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด มักจะปรากฏออกมาให้เห็น โดยเฉพาะในยามที่คนๆ หนึ่งพยายามจะรักษาอำนาจทั้งหมดที่มีอยู่ไว้ให้นานที่สุด หรือยามที่คนๆ หนึ่งพยายามจะชิงอำนาจจากอีกคนหนึ่งมาไว้เป็นของตัว  มันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ปุถุชนใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะสังคมของผู้เจริญแล้ว หรือประเทศโคตรมหาอำนาจ เงามืดของความอำมหิตโหดร้ายก็ยังสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปได้

สิ่งที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ การที่ผู้เขียนพยายามเชื่อมโยงปมในวัยเด็กและชีวิตครอบครัวเข้ากับบุคลิกภาพของผู้นำคนหนึ่ง  ความจริงแล้วดิฉันคิดว่าเรื่องการวิเคราะห์บุคลิกภาพจากสภาพชีวิตในวัยเด็กมันไม่ใช่เรื่องยากนัก ดูละครหลังข่าวบ่อยๆ ก็ยังช่วยให้เข้าใจได้เลย แต่เมื่อเป็นเรื่องของผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำระดับโลก อย่างโทนี่ แบลร์ นิโคลัส ซาโกซี ฯลฯ หรือแม้แต่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะของเราก็เถอะ ใครจะไปเอาปมชีวิตวัยเด็กของท่านเหล่านี้มานั่งวิจารณ์ว่าทำไมท่านทำตัวอย่างนั้น ตัดสินใจอย่างนี้

จริงอยู่ ข้อมูลเหล่านี้มันไม่ได้สืบหากันมาได้ง่ายๆ แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ทำให้เรามองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปเป็นเพราะเรายกบุคคลเหล่านี้เหนือกว่าพวกเรา ท่านๆ ทั้งหลายเหล่านี้ต้องมีความพิเศษเหนือมนุษย์ประชาชนธรรมดาอย่างเรา จิตใจและมันสมองของพวกท่านล้ำลึกซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเทียบเคียง  ดังนั้น เราคงไม่สามารถไปวิจารณ์พวกท่านโดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับเราได้หรอก  แต่หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะรู้เลยว่าพวกผู้นำมันก็คนเหมือนกับเรานั่นแหละ มีโกรธ มีโลภ ไปตามเรื่อง

อย่างนิโคลัส ซาโกซีนี่ดิฉันชอบมาก ผู้เขียนเล่าว่าตัวของซาโกซีนั้นไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กที่ราบรื่น เรียนก็ไม่เก่ง ตัวเล็ก แต่อยากได้รับการยอมรับ เลยต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ความสนใจจากคนรอบข้าง ทั้งๆ ที่ก็ทำได้ไม่ดีนัก  จนได้มาเป็นประธานาธิบดียุคใหม่ของฝรั่งเศสเพราะความทะเยอทะยานอยากเด่นอยากดังแท้ๆ เชียว  จะมีเมียไว้อวดชาวโลกก็ต้องหาแบบซะเริ่ดขนาดนั้น ต้องสร้างข่าว ลงหนังสือพิมพ์ คงสมใจเขาแล้วล่ะ  แต่พอมาถึงงานบริหารบ้านเมือง มีอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวบ้างล่ะ บัลลังก์ท่านจะล่มแหล่มิล่มแหล่  หรืออย่างแบร์ลุสโคนี ประธานาธิบดีจอมโฉดของอิตาลี พื้นฐานพี่แกเป็นโจรมาแต่ไหนแต่ไร ในหัวมีแต่เรื่องโกงกับหนีคดีให้พ้นผิด พอมาได้อำนาจก็เลยตั้งหน้าตั้งตาทำแต่เรื่องแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด เพราะพื้นฐานในจิตใจของพี่แกมีอยู่แค่นี้ เป็นมนุษย์กลัวติดคุกติดตาราง อยากมีอำนาจ อยากรวยเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษเหนือมนุษย์อย่างเราเลย

ผู้เขียนยังได้เสนอสิ่งสำคัญอีกประการที่ทำให้การเมืองหรือผู้นำคนนั้นๆ เป็นอย่างที่เห็น ซึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์การเมือง ที่สืบเนื่องกันอย่างใกล้ชิดแบบตัดกันไม่ขาด ถ้าไม่มีการส่งระเบิดพลีชีพไปกำจัดนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ทิ้งอย่างถอนรากถอนโคน  ผู้นำหนึ่งคนเป็นผลพวงของอดีต การเรียนรู้ การรับข้อมูล การตัดสินใจ ล้วนได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ที่ได้จากอดีตทั้งสิ้น บ้างก็ต้องการต่ออดีตนั้นสู่อนาคตเพราะเห็นว่ามันดีอยู่แล้ว บ้างก็ต้องการล้มล้างอดีตนั้นทิ้งเสีย แล้วเริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่เขากำลังจะสรรค์สร้าง  แต่ประวัติศาสตร์และประสบการณ์นั้นสำคัญพอๆ กับช่วงชีวิตในวัยเด็กและสภาพแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมาเลยทีเดียว ในการที่จะบอกได้ว่าทำไมผู้นำคนนี้ถึงได้คิดแต่เรื่องเอาใจนักการเมืองรุ่นเก่า ทำไมผู้นำคนนั้นถึงต้องการประโคมข่าวผลงานของตนเองมากๆ

การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนได้อ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์อันสนุกสนาน เหมือนดูหนังยุคกรีก-โรมัน ยุคจิ๋นซี ฮ่องเต้ ที่เอะอะอะไรก็ยกทหารไปฆ่าทิ้ง ยึดเมือง ยึดที่นากันซะงั้น แต่นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง บางเหตุการณ์เพิ่งเกิดมาเมื่อไม่นานมานี้ด้วยซ้ำ เสียอย่างเดียวก็คือเรื่องของแต่ละคนมันสั้นไป ซึ่งก็ดีนะคะ จบเร็วดี ผู้เขียนสรุปเหตุการณ์สำคัญมาให้หมดแล้ว แต่บางประเด็นมันอยากรู้ต่อไง ยิ่งประวัติศาสตร์การเมืองของรัสเซียนี่มันส์มาก วลาดิมีร์ ปูตินมาถึงขนาดนี้ได้ถือว่าไม่ธรรมดา แต่อยากอ่านเพิ่มอีกไง อยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้

แต่สุดท้ายก็เข้าใจว่า บทความแต่ละชิ้นของผู้นำแต่ละคนนั้นเขียนขึ้นสำหรับตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน ดังนั้น จึงต้องกระชับและสามารถจบในตอนได้  พักหลังๆ นี่เจอแต่หนังสือที่รวบรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารเยอะจัง จะว่าไปรู้สึกเหมือนโดนหลอก เอาของเก่ามาปัดฝุ่น แต่งหน้าทาปากขายใหม่ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าเราคงไม่มีปัญญามาตามอ่านนิตยสารหลายสิบเล่มได้ในหนึ่งเดือน หรือลงทุนซื้อนิตยสารหนึ่งเล่มเพื่ออ่านเรื่องราวเพียงเรื่องเดียวกันเป็นปีๆ สู้ซื้อหนังสือมาหนึ่งเล่ม อ่านมันรวดเดียวจบเลยดีกว่า ก็ว่ากันไป แต่เล่มนี้ถือว่าคุ้มนะคะ ถ้ามีเล่มสองอีกก็จะตามซื้อมาอ่านอีก แต่เล่มสองนี้จะเขียนถึงใครล่ะ เพราะผู้นำที่รู้จักกันดีในระดับโลกก็เขียนถึงไปหมดแล้ว คงจะเขียนเรื่องผู้นำที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน หรือผู้นำที่โลกไม่อยากจับตามองเลยก็น่าสนใจดีนะคะ  อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าผู้เขียนจะต้องเขียนเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร เนื้อเรื่องมันจะออกมาเป็นอย่างไร