3.27.2010

"นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา"



ก้อง คาร์ ไว.  นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา.  กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก, 2548.


เปลี่ยนบรรยากาศมาอ่านหนังสือเบาๆ บ้างดีกว่า หลังจากที่บ้าบอคอแตกอ่านแต่หนังสือพัฒนาทักษะการเป็นมนุษย์เงินเดือนมาหลายเล่มอยู่  จริงๆ อยากอ่านนิยายมากกว่า แต่ไม่มีในสต๊อก นึกว่า “นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา” เป็นนิยาย และถ้าเป็นนิยายของทรงกลด บางยี่ขัน อาจจะออกแนวๆ และต้องมีเสียน้ำตาแน่นอน แต่ที่ไหนได้ มันเป็นการรวบรวมความเรียงที่เขาเขียนโดยใช้นามปากกา ก้อง คาร์ ไว ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เป็นรายสัปดาห์

ตอนที่เริ่มอ่านตรงคำนำ ไปจนถึงหน้าแรกๆ ยังรู้สึกเลยว่า “จะอ่านเล่มนี้จริงๆ เหรอวะ จะอ่านรู้เรื่องเหรอ อยากอ่านนิยายประโลมโลกมากกว่า” แต่สุดท้ายก็กัดฟันอ่านจนจบเรื่องที่หนึ่ง ต่อไปจนเรื่องที่สอง สาม สี่ ... สุดท้ายก็วางไม่ลง ชอบมากขนาดที่ว่าเอาใส่ไว้ในเสื้อตลอดเวลาได้เลย

ดิฉันยังจำคนที่ยุให้ซื้อหนังสือเล่มนี้ตอนงานมหกรรมหนังสือเมื่อปีที่แล้วได้เลย คงเป็นคนที่ทำงานในสำนักพิมพ์อะบุ๊ก พี่แกเป็นพวกติ๊สๆ แนวๆ ตอนยุให้เราซื้อ พูดกับเราแบบไม่มองหน้าด้วย แบบหยิ่งๆ เหมือนกับว่า “ขนาดคนเท่ห์ๆ อย่างข้ายังบอกว่าสนุก ถ้าเอ็งอยากเท่ห์ก็ต้องอ่านเล่มนี้แหละ”  แต่ที่ซื้อนี่ไม่ได้อยากเท่ห์แบบพี่แกนะ เรามีสไตล์ของเราอยู่แล้ว แต่จำไม่ได้เหมือนกันว่าซื้อมาทำไม

อ่านคำโปรยบนปกหนังสือ “รวมงานเขียนโรแมนติกที่สุดของทรงกลด บางยี่ขัน... รวมความเรียงหวานแบบเหงาๆ เศร้าแบบอุ่นๆ ระลอกแรก” แล้วแอบขนลุกนิดๆ คิดไปก่อนเลยว่าต้องเป็นงานแบบโคตรคูลตามแบบหนุ่มขบถรุ่นใหม่ที่ช่างคิด ช่างสังเกต ช่างถาม และช่างประชดประชันแหงๆ  แต่ที่ไหนได้ ดันเป็นเรื่องกุ๊กกิ๊กในใจของผู้ชายคนหนึ่ง  ไม่เห็นด้วยเลยที่จะบอกว่ามันเป็นเรื่องเศร้า เหงา น่าจะเปลี่ยนเป็น “รวมความเรียงหวานๆ แบบหนุ่มโสด สดชื่นแบบอบอุ่น ระลอกแลก”  แต่เห็นด้วยที่โรแมนติก

แต่ละคนคงมีนิยาม “โรแมนติก” ต่างกัน สำหรับดิฉัน ความโรแมนติกคือ การที่เราทำให้ช่วงเวลาหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ เป็นความประทับใจ เป็นความสุขตลอดไป  ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเวลาของเฉพาะคู่รักเท่านั้น แต่ทุกช่วงเวลาแห่งชีวิต กับเพื่อน กับพ่อแม่ พี่น้อง สัตว์เลี้ยง แม้แต่เวลาที่เราอยู่คนเดียว เราก็สามารถโรแมนติกได้ มันไม่ใช่ความช่างฝัน แต่มันเป็นความช่างคิดที่จะทำให้ช่วงเวลานั้นมีแต่ความสุข เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจแก่ตนเองและคนรอบข้าง

ความเรียงของก้อง คาร์ ไว คือตัวอย่างของความโรแมนติก แม้แต่น้ำฝนหยดเดียวก็ยังทำให้คิดถึงความสุข ความทรงจำที่ดีในเยาว์วัยได้ แถมยังเป็นความสุขที่เมื่อได้บอกเล่าแล้ว ยังทำให้คนอื่นมีความสุขได้อีก  หรือแม้แต่แค่อยากจะลองส่งโทรเลขดูสักครั้งในชีวิต คนที่ไม่โรแมนติก คงไม่สามารถมานั่งเล่าเรื่องได้เป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้หรอก

พอเขียนมาถึงตรงนี้ ดิฉันว่าอาจจะแบ่งคนได้เป็น 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือ คนที่ไม่มีความโรแมนติกเลย คือเห็นอะไรก็ไม่เคยเกิดความประทับใจ ไม่สามารถสร้างความสุข ความอิ่มเอม หรือสร้างแรงบันดาลใจใดๆ แก่ตนเองหรือคนรอบข้างได้เลย  ถ้าได้พูดคุยสนทนากับคนพวกนี้ คงไม่ได้อะไรที่มีคุณค่า ดีไม่ดีอาจจะได้ความมองโลกในแง่ร้ายเพิ่มมาอีก  กลุ่มคนที่สองคือ คนที่มีความโรแมนติก แต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้  จะโรแมนติกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าตอนนั้นอารมณ์ดีหรืออารมณ์เสียอยู่  แต่ก็ยังสามารถรู้สึกถึงความสุข ความประทับใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้  ส่วนคนกลุ่มสุดท้าย ก็คือคนอย่างก้อง คาร์ ไวนี่แหละ คือคนที่มีความโรแมนติก และยังสามารถถ่ายทอดความสุข ความประทับใจให้กับคนรอบข้างได้อีกด้วย

คุณคิดว่าในสังคมเราจะมีคนแต่ละกลุ่มร้อยละเท่าไร น่ามีทีมวิจัยลองสำรวจเรื่องพวกนี้ดูนะคะ ดิฉันคิดว่าน่าจะมีคนกลุ่มที่สองเยอะมากที่สุด เพราะดูแล้วคือน่าจะเป็นคนธรรมดา มีสุขบ้างเศร้าบ้าง ปะปนกันไป เล่าบ้างไม่เล่าบ้าง แล้วแต่อารมณ์ ถ้าเลือกที่จะเล่า ก็เล่ารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง คนฟังๆ แล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ใส่ใจ  แต่ถ้าเป็นคนประเภทที่สาม ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกและความประทับใจทั้งหลายแหล่ได้ออกมาเป็นเรื่องเป็นราว สัมผัสได้ รับรู้ได้ หล่อหลอมเข้าไปในจิตใจตนเองได้ น่าจะมีไม่เยอะเท่าไหร่ อาจจะน้อยกว่าคนกลุ่มที่หนึ่งด้วยซ้ำ

แต่ดิฉันคิดว่ามีคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนะคะ คือเรื่องศิลปการสื่อสาร การพูด การเขียน มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่มีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง มีหนังสือแบบฝึกหัดเป็นร้อยเป็นล้านอย่างนี้หรอก  ดิฉันเชื่อว่ามันเป็นทั้งเรื่องพรสวรรค์และพรแสวง ต้องฝึกฝนด้วย คนบางคนอาจจะเคยพูดเรื่องเดียวอยู่เป็นปี กว่าจะเข้าที่ ฟังแล้วเป็นเรื่องเป็นราว  หรืออย่างก้อง คาร์ ไวนี้ ดิฉันสันนิษฐานเอาเองว่า เขาก็ต้องฝึกฝนการเขียนมาบ้าง อาจจะอาศัยการอ่านเยอะๆ ฟังเยอะๆ หรือเขียนเยอะๆ ถึงจะมีวันนี้ได้

คำถามก็คือว่า แล้วคนที่สื่อสารเก่ง พูดเมื่อไรคนเคลิ้มเมื่อนั้น จำเป็นต้องเป็นคนโรแมนติกด้วยหรือเปล่า พระสงฆ์ที่เทศน์จนมีลูกศิษย์ตามไปฟังทุกหนทุกแห่ง ถือว่าท่านโรแมนติกไหม  อาจจะไม่จำเป็น แต่ดิฉันเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การที่เราสามารถทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา หรือได้รับแรงบันดาลใจอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากได้รับฟังหรือได้อ่านสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไป สิ่งแรก ซึ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องเชื่อในสิ่งที่เราสื่อสารอย่างหมดหัวใจ ไม่เช่นนั้นคนอื่นจะไม่สามารถสัมผัสถึงความจริงใจที่ออกมาทางแววตา น้ำเสียง รอยยิ้ม น้ำตา ฯลฯ เราได้ คงมีแต่ดาราระดับออสการ์ละมั้งที่น่าจะทำได้ แต่พวกเขาต้องฝึกฝนผ่านร้อนผ่านหนาวกันมากี่ปี

ดิฉันจัดทรงกลด บางยี่ขันอยู่ในกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ ในกลุ่มเดียวกับ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ทรงศีล ทิวสมบุญ วรพจน์ พันธ์พงศ์ ฯลฯ ที่พยายามจะลบภาพเดิมๆ ของการวิธีการเขียนหนังสือของเมืองไทย ซึ่งรวมไปถึงเนื้อเรื่องที่นำมาเขียน ประเด็นต่างๆ การค้นคว้าข้อมูล และการแสดงข้อมูลในวิธีการใหม่ๆ ปรากฏว่า นักเขียนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากค่ายเดียวกัน  (ว้ายยย ดิฉันเชยตลอดเลยเนอะ)

แต่พูดจริงๆ เลยนะ บางทีดิฉันไม่ค่อยกล้าอ่านผลงานการเขียนของบุคคลเหล่านี้หรอก พวกเขาเป็นคนมีชื่อเสียงมาก ผลงานของพวกเขาใครๆ ก็อยากอ่านอยากชื่นชม  เป็นปรากฏการณ์เหมือนที่วินทร์ เลียววาริณเคยสร้างไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน  ถึงแม้ผลงานของพวกเขาจะออกมาเพื่อปลดแอกการเขียน การใช้ภาษา และการรับรู้ข้อมูลของชีวิตรอบๆ ตัวให้กับคนรุ่นใหม่ แต่ดิฉันกลับกลัวที่จะต้องตกเป็นทาสทางความคิดของพวกเขา เหมือนกับคนหลายๆ คนที่แห่กันอ่านผลงานเหล่านี้  ดิฉันกลัวที่จะถูกกลืนกินไปกับวัฒนธรรมใหม่ที่กลายเป็น mainstream ไปแล้วนั้น จนไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับที่ดิฉันปฏิเสธที่จะอ่าน Harry Potter เพราะไม่ต้องการที่จะเป็นผลพวงของวัฒนธรรม commercial pop culture ข้ามชาตินี้

3.07.2010

"ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง"



 

ทันตแพทย์สม สุจีรา.  ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง.  กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552.



ทั้งๆ ที่ผู้เขียนท่านนี้มี best seller เยอะมาก อย่าง “เดอะ ท็อป ซิเครท” น่าจะกลายเป็นหนังสือยิดฮิตตลอดกาลของวงการไปแล้ว ทว่า ดิฉันก็แทบไม่เคยคิดจะอ่านหนังสือใดๆ ของทันตแพทย์สม สุจีราเลย  แต่ในภาวะที่หัวใจสลายเรื้อรังมากว่าหกเดือน ใยเลยดิฉันจะข้ามผ่านคำกล่าวที่ว่าผู้ชายด้อยกว่าผู้หญิงได้เล่า มันต้องการอะไรก็ได้ที่มาเสริม self-esteem

“...เพศหญิงมีทวาร 6 ที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า เธอมองเห็นสีสันได้กว่า 200 เฉดสี แต่เพศชายแยกได้ไม่ถึง 70 สี ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมผู้หญิงจึงหลงใหลสีฉูดฉาดของเครื่องแต่งกาย ชื่นชอบความวูบวาบของเครื่องเพชรมากกว่าผู้ชาย ...ผู้หญิงบางคนจะพูดโดยเฉลี่ยวันละ 20,000 คำ ถ้าน้อยเกินไปเธอจะอึดอัด ในขณะที่ผู้ชายพูดประมาณ 7,000 คำต่อวัน แม้น้อยกว่านี้เขาก็รู้สึกเฉย...”

แม้ข้อความข้างบนนี้จะจี้ใจดำความเป็นหญิงไปบ้าง แต่นี่แหละ คือสิ่งที่จะช่วยเยียวยาให้ความมั่นใจในความเป็นผู้หญิงของตนเองกลับคืนมา ยังมีอีก ผู้หญิงจมูกไวมาก ยิ่งตอนที่มีประจำเดือน คือเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จมูกจะไวเป็นพิเศษ สามารถแยกกลิ่นได้ 4,000 ชนิด ในขณะที่ผู้ชายแยกได้แค่ 2,000 ชนิด  ครึ่งต่อครึ่งเลยนะเนี่ย

แต่ความหมายอันแท้จริงของการมีทวารอันทรงพลังก็คือ เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะสร้างกิเลสได้มากกว่าผู้ชายในทุกทวาร หรือผู้หญิงสามารถสร้างกรรมให้ตัวเองมากกว่าผู้ชายได้หลายเท่า

ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเองเป็นหนังสือประเภท เรียนธรรมะแบบคนรุ่นใหม่ คนรุ่นที่ถูกกล่อมด้วยความคิดที่ว่าคนรุ่นใหม่ย่อมฉลาดกว่าคนรุ่นเก่า และมีหน้าที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ไม่ยอมซูฮกให้กับคำสอนเก่าๆ คนรุ่นที่นึกว่าตัวเองเก่ง เท่ห์ เพราะหาหลักฐานที่จับต้องได้มาหักล้างความรู้เก่าๆ แล้วบอกว่าเราฉลาดกว่า เรารู้มากกว่า เราเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากกว่า  นี่ดิฉันอคติกับคนรุ่นตัวเองมากเกินไปหรือเปล่านะ

สิ่งที่ทันตแพทย์สม สุจีราเผยแพร่มาโดยตลอด คือ พิสูจน์ว่าพุทธศาสนาสามารถอธิบายทุกสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้  และพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมชาติสูงสุด จริงแท้ที่สุด ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน เป็นการรวบรวมข้อมูลการวิจัยการรับรู้ผ่านทวารต่างๆ ของเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย เพื่อยืนยันว่า ผู้หญิงมีกรรมมากกว่าผู้ชาย การได้เกิดมาเป็นผู้หญิงคือการที่ต้องมาชดใช้กรรมมากกว่าการได้เกิดมาเป็นชาย

ดิฉันได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธ ศาสนาอยู่ไม่มากก็น้อย มีอยู่เล่มหนึ่ง พยายามอธิบายว่ากรรมมีจริง แต่เล่าเป็นแนวนิทาน ว่าเคยมีคนๆ นี้ ไปพรากลูกพรากเมียเค้ามา ไม่ทำมิดีมิร้ายหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาตนในชาติโน้นชาตินี้ คนนี้เลยต้องมาใช้กรรมตั้งหลายชาติ ชาติถัดมาเกิดมาเป็นชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ชาติถัดมาเป็นชายที่โดนข่มขืน ชาติถัดมาก็เป็นนู่นเป็นนี่ โดนนั่นโดนนี่ จนเกือบจะหมดกรรมนี้แล้ว มาถึงชาติสุดท้ายที่จะต้องใช้กรรมนี้ คือ ชาติที่จะต้องเกิดมาเป็นหญิง  แต่หนังสือเล่มนั้นกลับไม่ได้อธิบาย หรือให้เหตุผลใดๆ ว่า แล้วทำไมจะต้องเป็นผู้หญิงด้วย

คุณแม่ของดิฉันเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาก็เคยบอกกับดิฉันเช่นนี้เหมือนกัน คือ คนที่เกิดมาเป็นผู้หญิงคือคนที่มีกรรม  พอดิฉันถามว่าทำไม คุณแม่บอกว่า เพราะต้องเป็นเพศที่อุ้มท้อง คลอดลูก ต้องทนเจ็บกายมากกว่าผู้ชาย  คุณแม่ยังบอกอีกว่า ภิกษุณีมีศีลที่ต้องรักษาตั้ง 300 กว่าข้อ แต่ของภิกษุ มีแค่ 200 กว่าข้อเอง ก็น่าจะเป็นไปได้เนอะ แต่คำตอบของคุณแม่ยังไม่สามารถทำให้ดิฉันหมดข้อสงสัยไปได้

กลายเป็นว่าหนังสือ ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง เล่มนี้ที่ช่วยให้ดิฉันกระจ่างขึ้น  ซึ่งเมื่อย้อนดูตัวเองแล้ว อาจจะเป็นจริงก็ได้ ดิฉันเป็นคนที่หลงใหลในรูป รส เสียง เป็นคนที่ชอบสีสันอันฉูดฉาด ชอบฟังเพลงเพราะๆ ชอบเสาะหาของกิน ไวน์แดงเจ๋งๆ เหล้าวิสกี้เริ่ดๆ เวลาจะไปเที่ยวต้องขอบรรยากาศก่อน คือน่าจะเป็นคนที่ได้ใช้ทวารทั้ง 6 ของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะอย่างนี้ละมั้ง ถึงมีแฟนได้ไม่นาน มีแต่คนทิ้ง กรรมชั่วของดิฉันมันเยอะเสียเหลือเกิน ว่าไปนู่น

ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่าผู้เขียนต้องการจะบอกอะไร แต่ดิฉันก็ยังอดภูมิใจน้อยๆ ไม่ได้ ที่ธรรมชาติสร้างผู้หญิงให้แข็งแรงกว่าผู้ชาย  ดิฉันคิดว่า การที่ผู้หญิงสามารถรับรู้สิ่งรอบข้างจากทวารทั้ง 6 ได้มากนั้น มันก็อาจจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถรับรสพระธรรมได้มากขึ้น เข้าใจความทุกข์ ความสุข ความเศร้า ความสงบ ได้มากขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้น แต่เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องตัดความเชื่อในความเป็นอัตตาของทุกอย่างออกให้ได้ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าผู้หญิงก็ต้องทำได้ดีไม่แพ้ผู้ชายเหมือนกัน  แต่เรื่องตลกก็คือ ในระหว่างที่ดิฉันมีความคิดเหล่านี้อยู่ มันกลับหมายถึงการยึดติด การเอาชนะ ซึ่งเป็นการสร้างเวทนาผ่านทางทวาร ตา และ ใจ เหมือนกัน  ใช่หรือไม่ การปฏิบัติธรรมนี่ยากจริงๆ เลย

ดิฉันพยายามที่จะเป็นคนดีอยู่เสมอ เป้าหมายแรกๆ ของคนกรรมหนาอย่างดิฉัน ก็แค่สามารถสวดมนตร์อย่างสม่ำเสมอ รักษาศีลห้า ทำบุญตักบาตร ให้ได้เป็นนิจ เท่านี้ก็ภูมิใจแล้ว หลังจากนั้นก็ก้าวไปยังเป้าหมายต่อไป คือการหัดทำสมาธิ การทำวิปัสนา  ดังนั้น ดิฉันจะมีความสุขความยินดีอยู่เสมอที่เห็นคนตั้งใจทำความดี เห็นคนใส่บาตร คนที่ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง คนที่มีน้ำใจ รักพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงอย่างถูกต้อง คนที่ต้องการหาความรู้ที่ดี พัฒนาตนเองอยู่เสมอ และจะคอยให้กำลังใจคนรอบข้างอยู่ตลอด  ดิฉันสงสารคนที่ทำแต่กรรมชั่วมาก หรือคนที่คิดแต่สิ่งเลวร้าย จับผิด หาข้อเสียของคนอื่น  ซึ่งดิฉันอาจจะอินกับเหตุการณ์เหล่านี้มาก เพราะทวารทั้ง 6 ทำงานได้ดีเสียเหลือเกิน แต่คำถามคือ สิ่งเหล่านี้คือการยึดติดการการรับรู้ทางทวารทั้ง 6 หรือไม่

อีกสิ่งที่ดิฉันทำคือ สำรวมให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง พูดแต่สิ่งดีๆ ซึ่งก็คือการรักษาศีลข้อ 4 นั่นแหละ พออ่านหนังสือเล่มนี้เลยรู้สึกว่า นี่เรากำลังจะทำตัวเป็นผู้ชายแบบในหนังสือเลย พูดน้อย ไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เลือกฟัง เลือกจำแต่สิ่งที่ดี  แต่สุดที่รักคนที่เพิ่งจะร้างลากันไปกลับเป็นผู้ชายที่พูดมากเสียเหลือเกิน เชื่อเลยว่าพูดมากกว่าวันละ 7,000 คำล่ะ และเป็นคนที่จะเอารายละเอียดเลวร้ายของคนอื่นมาเป็นสิ่งให้ตนเองทุกข์ใจอยู่ เสมอ ดิฉันแทบจะไม่ใช้ความสามารถทางทวารทั้ง 6 ไปจับผิด ไม่ไปสูดดมว่าแอบไปเจอกิ๊กมาหรือเปล่า หรือแอบไปกินเหล้าแล้วไม่ชวนมาหรือเปล่า ไม่เอาใจไปจำเรื่องเก่าๆ ที่เคยเถียงกัน หรือเรื่องที่เป็นความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีบ้างที่สุดท้ายก็ต้องทะเลาะกันเถียงกันเพราะทนไม่ไหว แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะตัดการรับรู้ กิเลส และเวทนา แต่หากได้อยู่ท่ามกลางผู้ที่มีความพยายามเดียวกัน หรือในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการไปถึงเป้าหมายแห่งการบรรลุ คงไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้

ดิฉันยังมีคำถามอีกเยอะเลยหลังจากอ่าน หนังสือเล่มนี้จบ ส่วนใหญ่คงเป็นคำถามเกี่ยวกับพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรม เพราะดิฉันมีความรู้เรื่องนี้เพียงน้อยนิดเท่านั้น  แต่คิดว่าควรจะจบการเขียนถึงหนังสือ ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเองของทันตแพทย์สม สุจีรา ไว้เท่านี้ก่อนดีกว่า เพราะเดี๋ยวมีคนบ่นว่ายาวเกิน  แต่บอกตรงๆ ด้วยทวารปากเลยค่ะ ว่าเป็นหนังสือที่ดี อ่านง่าย มีเกร็ดความรู้มากมาย ซึ่งถ้าไม่สนใจพุทธศาสนาก็ยังอ่านได้ หากมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาและธรรมะพอสมควร น่าจะอ่านได้เร็วและไม่สับสนเลยค่ะ