1.24.2010

"อธิฐานสิจ๊ะ กับนางฟ้าสีเขียว"







วิเชียร ไชยบัง.  อธิษฐานสิจ๊ะ กับนางฟ้าสีเขียว.  บุรีรัมย์ : โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา, 2552.
ตอนแรกคิดว่าจะเขียนถึง ใบไม้แดงของวรรณสิงห์ ประเสริฐกุล ซึ่งอ่านจบไปแล้วนะคะ แต่ขอเปลี่ยนแผน เป็น อธิฐานสิจ๊ะ กับนางฟ้าสีเขียวโดยวิเชียร ไชยบังแล้วกัน เนื่องจากว่าได้รับทราบมาสักพักจากอาจารย์วิเชียรถึงความก้าวหน้าของหนังสือ เป็นระยะ เมื่อวานนี้มีโอกาสพบกันที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา อาจารย์วิเชียรก็เลยมอบให้ 1 เล่ม แถมด้วยข้อความและลายเซ็นต์ตามสไตล์นักเขียนคนดังอีก  เพิ่งอ่านจบเมื่อคืนนี้เองค่ะ ก็เลยขอแซงคิว ใบไม้แดงก่อนนะคะ
อธิฐานสิจ๊ะ กับนางฟ้าสีเขียว โดยวิเชียร ไชยบัง จากสำนักพิมพ์โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เป็นหนังสือเล่มเล็กๆ 118 หน้าเท่านั้นเองค่ะ เขียนคล้ายๆ กับนิทานสำหรับเด็กเลย แต่คำโปรยหน้าหนังสือบอกว่าเป็น วรรณกรรมที่ถ่ายทอดเรื่องรายจากอีกมุมหนึ่งของโรงเรียนนอกกะลา”  เขียนมาแบบนี้ ถ้าไม่ใช่แฟนพันธุ์แท้ใครจะไปรู้ว่าโรงเรียนนอกกะลาอยู่ที่ไหน และที่สำคัญ ดิฉันคิดว่าถ้าไม่รู้เรื่องโรงเรียนนอกกะลามาก่อนที่จะอ่านหนังสือเล่มนี้ อาจจะเข้าถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการจะสื่อได้ยากสักหน่อย แต่ไม่เป็นไรหรอกค่ะ บางทีการไม่มีข้อมูลใดๆ มาก่อน อาจจะทำให้ไม่เกิดการคาดหวังและการตัดสิน จึงอาจจะได้เห็นสิ่งอื่นๆ ที่ซ่อนอยู่ หรือแนวคิดใหม่ๆ ที่คนอื่นมองไม่เห็นก็ได้ เหมือนกับที่ในหนังสือบอกไว้ว่า อนาคตคือสิ่งที่เราไม่รู้ มันจะมีความหมายก็ต่อเมื่อเราไม่รู้เท่านั้นแหละ
อาจารย์วิเชียรบอกว่า เรื่องราวในหนังสือเล่มนี้ เป็นการถ่ายทอดวิธีการเรียนการสอนที่ใช้อยู่ที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาและ การพัฒนาของเด็กคนหนึ่งภายใต้การเรียนการสอนแบบนั้น จะขอกล่าวถึงคร่าวๆ ดังนี้ค่ะ วิสัยทัศน์ของโรงเรียนคือ ให้เด็กทุกคนมีความสุข เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (ซึ่งดิฉันไม่เข้าใจว่ามนุษย์ที่สมบูรณ์เป็นอย่างไร) มีความซื่อสัตย์สุจริต มีคุณธรรม จริยธรรม รู้จักพัฒนาตนเองอยู่เสมอ และมีความรักถิ่นฐาน ไม่ดูหมิ่นดูแคลนพื้นเพของตนเอง  ดิฉันแอบเดาเอาเองว่า ท่านผู้ก่อตั้งโรงเรียนต้องการให้โรงเรียนนี้ เป็นแหล่งบ่มเพาะนักการเมืองรุ่นใหม่  ลองคิดดูสิคะ ว่าหากนักการเมืองคนหนึ่งมีคุณสมบัติข้างต้นนี้ ชุมชนนั้นๆ จะเข้มแข็งปานใด การซื้อสิทธิ์ขายเสียงจะไม่มีอีกต่อไป จะมีแต่คนที่พยายามสร้างสรรค์แต่สิ่งดีๆ ให้กับชุมชนโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของคุณธรรม จริยธรรม และความซื่อสัตย์ แล้วถ้ามีชุมชนอย่างนี้เยอะๆ สังคมของเราก็จะเข้มแข็งอย่างแท้จริง ไม่ต้องพึ่งพางบประมาณ เมืองไทยเข้มแข็ง เพื่อเอาไปสร้างถนนหรือสิ่งอะไรที่มันไม่เข้าท่าสักเท่าไรกันอย่างเป็นบ้า เป็นหลังเหมือนทุกวันนี้
โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนามีนวัตกรรม เครื่องมือการเรียนการสอนมากมาย เช่น จิตศึกษา การสร้างคลื่นสมองต่ำ การสอนเพื่อการคิดและความเข้าใจ การเรียนการสอนแบบบูรณาการโครงงาน เป็นต้น  นอกจากนี้ ยังมีแนวคิดแนวปฏิบัติสำหรับครูผู้สอน เพื่อให้เครื่องมือเหล่านั้นได้ผลยิ่งขึ้น ซึ่งอาจารย์วิเขียรได้กล่าวถึงแนวคิดแนวปฏิบัติเหล่านี้ในหนังสือพอสมควร ยกตัวอย่างเช่น
- การประเมินเด็กนักเรียนด้วยการสอบหรือการให้คะแนน จะทำให้เด็กเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่มีความสุข แต่เด็กที่เหลือจะไม่มีความสุข อับอาย และไม่มั่นใจ
- หากเด็กทำผิด ครูไม่ควรเป็นผู้บอกว่าเด็กทำผิด แต่ควรใช้วิธีต่างๆ ให้เด็กเป็นผู้คิดได้เองว่าตนเองทำผิดไป และคิดหาวิธีแก้ไขความผิดพลาดนั้นด้วยตนเอง ครูต้องทำด้วยน้ำเสียงที่ไม่ตำหนิและใจเย็น
- เด็กจะจดจำสิ่งต่างๆ ที่ได้ยินจากผู้ใหญ่ และบางครั้งก็จะเชื่อไปตามนั้น ดังนั้นครู พ่อแม่ ผู้ใหญ่ควรจะพูดแต่สิ่งดี พูดด้วยภาษาที่เคารพสุภาพ และเป็นตัวอย่างที่ดีให้เด็กอยู่เสมอ
ประเด็นสำคัญหนึ่งที่หนังสือนำ เสนอคือ การร่วมมือกันระหว่างพ่อแม่และครู ซึ่งเป็นประเด็นที่พูดถึงอยู่ตลอดตั้งแต่ต้นจนจบเลยค่ะ  พ่อแม่ส่วนใหญ่คงไม่ต่างจากพ่อแม่ของเด็กน้อยในหนังสือเล่มนี้ คือต้องการให้ลูกเรียนเก่ง อ่านออกเขียนได้เก่งๆ แต่คิดว่ามันเป็นหน้าที่ของครูและโรงเรียนที่จะทำให้เด็กเรียนเก่ง อ่านออกเขียนได้ ไม่ใช่หน้าที่ของพ่อแม่  พ่อแม่จึงไม่เห็นความสำคัญของการเข้าร่วมกิจกรรมใดๆ ของโรงเรียน
แต่สิ่งที่นำเสนอในหนังสือคือ เด็กกลับเกิดความสับสน เวลาที่อยู่โรงเรียน ครูจะพูดจาดีกับเด็กนักเรียนทุกคน ไม่ทำโทษ ชี้ให้เห็นถึงความสวยงามของสิ่งรอบข้าง ปลูกฝังให้เกิดความรักและความเคารพกับผู้คนและสิ่งต่างๆ อยู่เสมอ  แต่เมื่อเด็กกลับบ้านมาคุยกับพ่อแม่ พ่อแม่จะให้ข้อมูลตรงกันข้าม เช่น เด็กชายหินอยากเลี้ยงหนู เห็นว่าลูกหนูเป็นสัตว์ที่น่ารัก บอบบาง ซึ่งเป็นผลมาจากการที่ครูปลูกฝังให้เด็กรักสัตว์และเคารพชีวิตอื่น แต่เมื่อเด็กชายหินถามแม่เรื่องลูกหนู แม่กลับบอกว่า หนูเป็นสัตว์สกปรก น่ารังเกียจ ห้ามสัมผัส ห้ามยุ่งเป็นอันขาด เด็กชายหินจึงต้องแอบเลี้ยงลูกหนูโดยที่ไม่ให้แม่รู้  ยังมีตัวอย่างอื่นๆ อีกมากในหนังสือเล่มนี้ค่ะ ที่แสดงให้เห็นว่า หากพ่อแม่และครูไม่ร่วมมือกันเพื่อที่จะช่วยสอนลูกให้เป็นเด็กดีและมีความ สุขแล้ว เด็กก็จะพัฒนาตนเองไปในทางนั้นได้ยากขึ้น  แต่สิ่งที่เด็กชายหินเผชิญอยู่เมื่ออยู่บ้าน อาจจะเป็นตัวแทนของโลกแห่งความเป็นจริง โลกที่คนส่วนใหญ่ยังคงมีความเชื่อหรือความคิดที่ยึดติดกับสิ่งต่างๆ จนไม่สามารถเปิดใจรับการเปลี่ยนแปลงใดๆ ได้อีก
สิ่งที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาทำ อยู่เสมอคือ จัดกิจกรรมให้ผู้ปกครองมีส่วนร่วมในกระบวนการการเรียนการสอนจริงๆ ผู้ปกครองจะต้องมารับส่งลูกเองทุกวัน ผลัดกันมาเล่าเรื่อง เล่านิทาน พูดคุยกับเด็กๆ ที่โรงเรียนอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้ปกครองเข้าใจ และซึมซับวิธีการเรียนการสอนแบบโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา เมื่อกลับบ้านไป ก็รู้วิธีที่จะตอบคำถามลูก พูดกับลูก สอนลูก เด็กๆ ก็จะมีความสุขในวัยเยาว์ได้ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
นอกจากนี้ พ่อแม่หลายคนอาจจะติดภาพว่าการเรียนที่โรงเรียนนั้น จะต้องมีครู มีไม้เรียว มีการบ้านเยอะๆ มีหนังสือต้องอ่านเป็นกอง จึงจะทำให้เด็กเรียนเก่ง มีวินัย  แต่สิ่งที่ปรากฎในหนังสือคือ เด็กไม่มีความสุขที่โรงเรียน กลัวครู อยากจะพูดจะอธิบายอะไรแต่ครูไม่ฟัง ครูชอบตี ชอบทำโทษ และทำต่อหน้าเด็กคนอื่นๆ ด้วยสิ  นี่ก็เป็นการย้ำอีกครั้งว่าพ่อแม่เองก็ต้องเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมของตน เองเช่นกัน นอกจากนี้ ยังย้อนกลับไปสอดคล้องกับสิ่งที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเชื่ออยู่เสมอคือ เด็กจะจดจำสิ่งที่ผู้ใหญ่พูดและทำ ตรงนี้อาจารย์วิเชียรอาจจะพยายามอธิบายเรื่องการเหนี่ยวนำ  คืออาจารย์วิเชียรชื่อว่า สิ่งต่างๆ ที่คนหมู่มากทำจะเป็นการกระตุ้นให้คนอื่นทำตาม ยิ่งจำนวนคนมากขึ้น พลังการเหนี่ยวนำก็จะยิ่งสูงขึ้นด้วย  ดังนั้น หากครูทำโทษเด็กคนหนึ่งต่อหน้าเด็กคนอื่น หรือตำหนิเด็กอย่างรุนแรงในชั้นเรียน นักเรียนที่เหลือก็จะมีแนวโน้มเชื่อว่าเด็กคนนั้นเป็นเด็กไม่ดี ขี้เกียจ สกปรก ฯลฯ แล้วแต่ตามที่ครูจะว่า  และสิ่งที่โรงเรียนลำปลายมาศพัฒนาเชื่ออีกสิ่งหนึ่งก็คือ หากเด็กคนนั้นได้ยินสิ่งเดิมๆ ซ้ำๆ กัน 21 ครั้ง เขาก็จะเชื่อว่าเขาเป็นคนอย่างนั้นจริงๆ ทั้งๆ ที่เพื่อนๆ ของเขาเชื่อตามครูไปก่อนหน้านั้นแล้ว
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงระบบการเรียนการสอนในสังคมไทย ไม่ใช่แค่เปลี่ยนที่ระบบเท่านั้นนะคะ แต่ต้องเน้นที่ครู และผู้ปกครองเองก็ต้องมีส่วนอย่างเต็มที่จริงๆ  ดิฉันเองเรียนมาทางด้านการศึกษา และเชื่อเช่นนี้ เชื่อว่าเราต้องเปลี่ยนที่คนก่อนที่จะไปเปลี่ยนระบบ ระบบการศึกษาดีแค่ไหน แต่คนใช้ระบบไม่เคยเข้าใจ ไม่มีความสามารถ มันก็ไม่ช่วยอะไรหรอกค่ะ  และการเปลี่ยนที่คนแรกเริ่มเลยก็ต้องที่ครูก่อน แล้วก็มาที่ผู้ปกครอง เปลี่ยนจากระดับล่าง แล้วมันจะกระเทือนไปถึงระบบเอง คนที่ดูระบบ (คือพวกที่ออกนโยบาย จัดสรรงบประมาณ ให้ขั้นให้ยศ) จะเริ่มรู้สึกถึงความเปลี่ยนแปลง เราไม่จำเป็นต้องรอให้พวกคนที่ดูระบบมาช่วยเราหรอก เราต้องช่วยตัวเองนั่นแหละ ขืนรอไปก็คงไม่มีวันเกิด เดี๋ยวย้ายบ้าง งบไม่พอบ้าง ว่ากันไป รอกันจนเด็กคนหนึ่งโตขึ้นมาเป็นนักการเมืองหัวขี้เลื่อย ก็ยังไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง
ที่กล่าวมาข้างต้น ดิฉันคิดว่าเป็นเพียงด้านหนึ่งของหนังสือ ส่วนอีกด้านหนึ่งคือการเรียนรู้ถึงสิ่งรอบตัวในสายตของเด็กเล็กๆ คนหนึ่ง ประเด็นนี้ก็สำคัญไม่แพ้กับการพยายามเปลี่ยนแปลงความคิดพฤติกรรมของครูและ พ่อแม่ข้างต้นเลยนะคะ และเราก็จะเห็นสิ่งเหล่านี้ตลอดทั้งเล่มจริงๆ  เด็กคนหนึ่งมีจินตนาการสูงมาก และมีความสนใจใคร่รู้กับสิ่งต่างๆ รอบตัวอยู่ตลอดเวลา ดิฉันเชื่อว่าทุกคนที่ได้อ่านก็จะต้องรู้สึกว่า เออ... ตอนเด็กๆ เราก็คิดอย่างนี้เหมือนกัน
ยกตัวอย่างจากตอนแรกเลย เด็กชายหินบอกว่า พยายามบอกทุกคนตลอดว่าตัวเองอายุห้าขวบแล้ว ทั้งๆ ที่เพิ่งฉลองวันเกิดสี่ขวบไปไม่กี่วัน และที่เขาทำอย่างนั้นเพราะเขาอยากโตไวๆ จะได้ทำอะไรสนุกๆ อย่างที่ผู้ใหญ่ทำ เช่น เดินข้ามทางรถไฟเองคนเดียวได้ ใช้กรรไกรได้ ฯลฯ ลองนึกถึงตัวเองตอนเด็กๆ สิคะ ตอนที่เราอยากขี่จักรยานไปหน้าปากซอยเอง ตอนที่เราอยากเดินไปเล่นทะเลเอง อยากกินข้าวเอง แต่ก็จะต้องมีคนมาบอกเราว่าไม่ให้ทำตลอดเลย และจะให้เหตุผลว่า ยังเด็ก เดี๋ยวมีดบาดบ้างล่ะ เดี๋ยวตกน้ำ เดี๋ยวผีตาโบ๋มาหลอก อะไรอย่างนี้ มันก็ถูกของผู้ใหญ่นะคะ ตอนนี้เราหลายคนก็ทำแบบนั้นเพราะเป็นห่วงเด็กๆ แต่เราก็จำได้ใช่ไหมคะ ว่าตอนที่โดนเบรกนั้น เราเซ็งแค่ไหน ทั้งๆ ที่เราคิดว่าเราใช้กรรไกรเป็นนะ เราขี่จักรยานเองได้  จริงๆ แค่เหตุผลที่ห้ามเด็กไม่ให้ทำอะไรอย่างหนึ่ง เพียงแค่เพราะว่า ยังเป็นเด็ก ทำไม่ได้ เป็นเรื่องของผู้ใหญ่มันไม่พอหรอกค่ะ ใช่ไหมคะ
ตอนเราเป็นเด็ก โลกของเรามีแค่บ้านกับโรงเรียน มีพ่อแม่ ครู และเพื่อนที่โรงเรียน  ถ้าเด็กคนหนึ่งไม่สามารถมีความสุขได้ในโลกที่แสนจะเรียบง่ายขนาดนี้แล้ว เขาจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่รู้จักวิธีหาความสุขที่แท้จริงได้อย่างไรคะ ความสุขที่เป็นความปิติ ความเบิกบาน ไม่ใช่ความสุขชั่วครั้งชั่วคราวที่เกิดขึ้นตอนที่เราดูหนังตลกเพราะเบื่องาน หรือตอนที่เรากินเหล้าจนเมาแล้วออกไปดิ้นกลางฟลอร์เพราะต้องการลืมเรื่องที่ เพิ่งทะเลาะกับแฟน
ตอนจบของหนังสือคือ เด็กชายหินโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ ทำงานหลากหลายอาชีพ แต่ถ้าเขาขอพรได้หนึ่งอย่างจากนางฟ้าสีเขียว เขาจะขอกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง  ส่วนดิฉัน คงไม่อยากกลับไปเป็นเด็กอีกแล้ว เพราะวัยเด็กของดิฉันมีแต่ความน่าเบื่อ โดนครูดุ ครูตี เพื่อนๆ ก็ชอบแกล้ง ชอบว่าว่าเป็นคนเรียนไม่เก่ง กระจอก ตัวดำ แสดงละครทีไรก็เป็นได้แค่นางผีเสื้อสมุทร หรือเงาะป่า แม้ตอนโตขึ้นจะเรียนเก่ง เอนท์ติด จบโทเมืองนอก พูดภาษาอังกฤษปร๋อ มีลูกน้องเป็นฝรั่ง แต่สิ่งที่เพื่อนๆ โรงเรียนเก่าเห็นก็คือ เด็กกระจอกๆ ที่เรียนไม่เก่ง ขี้เกียจ และโดนครูดุอยู่เสมอ  นี่แหละค่ะ อานุภาพของครูประถม แล้วอย่างนี้จะอยากกลับไปเป็นเด็กทำไมล่ะคะ ไปเพื่อเปลี่ยนอดีตงั้นเหรอ เชื่อไหมคะ ว่าดิฉันคิดว่าตัวเองคูณเลขสองหลักไม่เป็นตั้งแต่ป. 3 แน่ะ เพราะว่าเคยเอาการบ้านไปส่งครู ครูเอาไม้เรียวชี้ลงไปในสมุด แล้วถามว่า นี่อะไร ดิฉันเลยดึงสมุดกลับมาเพื่อมาแก้ แต่ก็แก้ไม่ได้เพราะมันถูกอยู่แล้ว  แต่ก็คิดว่าตัวเองทำไม่เป็นมาตั้งนาน จนถึงม. 1 น่ะค่ะ ถึงได้รู้ว่าที่เรารู้นั้นมันถูกอยู่แล้ว  ถ้าย้อนได้ ดิฉันขอย้อนกลับไปแค่ตอนอยู่มหาวิทยาลัยก็พอ ตอนที่ดิฉันได้เห็นน้ำตาแห่งความภูมิใจของพ่อแม่ดีกว่าค่ะ
อธิฐานสิจ๊ะ กับนางฟ้าสีเขียว อาจดูเหมือนเป็นหนังสือเด็ก แต่จริงๆ เป็นหนังสือที่ครู บุคคลากรทางการศึกษา และพ่อแม่ควรจะอ่านอย่างยิ่ง ดังที่อาจารย์วิเชียรได้เขียนคำอุทิศไว้
เด็กๆ ทุกคนรักพ่อแม่ รักคุณลุงคุณป้า รักคุณครู ครูใหญ่ ครูแม่ครัว ครูภารโรง รักบ้าน รักโรงเรียน รักดอกไม้หน้าบ้าน รักปลาทุกตัวในบ่อหลังบ้าน ขอให้กำลังใจพ่อแม่และคุณครูทุกคนนะคะ

No comments:

Post a Comment