8.14.2010

"ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่"



 

ภิญโญ ไตรสุริยธรรมา.  ผู้นำ อำนาจ  ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่.  กรุงเทพฯ : openbooks, 2552.


ไม่ได้อ่านหนังสือที่เกี่ยวกับประวัติศาสตร์การเมืองมานานมากแล้ว จะมีก็แต่อ่านจากคอลัมน์นิตยสารทั่วไป  ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องการเมืองญี่ปุ่น  หนังสือแนวนี้เล่มสุดท้ายที่นึกออกน่าจะเป็น “ประชาธิปไตยบนเส้นขนาน” ของวินทร์ เลียววารินทร์ ซึ่งเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีหนึ่ง (ไม่อยากบอกเลยว่ามากกว่าสิบปีมาแล้ว) แต่หนังสือเล่มนั้นกับ “ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่” เล่มนี้มีแนวทางการเขียนแตกต่างกันอยู่ดี แต่อารมณ์สุดท้ายที่ได้หลังอ่านจบทั้งสองเล่มเหมือนกัน

โดยส่วนตัวแล้วชอบ “ผู้นำ อำนาจ ประวัติศาสตร์ และการเมืองใหม่” มากค่ะ ได้มาตอนงานสัปดาห์หนังสือเมื่อต้นปีนี้ จำไม่ได้แน่ชัดว่าตัดสินใจซื้อเพราะอะไร แต่รู้สึกตื่นเต้นกับหนังสือเล่มนี้มาก  ไม่ได้อ่านทันทีหลังจากกลับมาบ้าน เพราะยังมีอีกหลายเล่มที่ซื้อมาก่อนหน้านั้น ต้องเรียงตามคิว แถมยังมีเล่มอื่นๆ ที่ซื้อและอ่านลัดคิวอีก  เลยได้มาอ่านจริงๆ ตอนหลังเกิดเหตุการณ์ม็อบเสื้อแดงยึดราชประสงค์ เผาบ้านเผาเมืองพอดี  การได้มาซึ่งอำนาจทางการเมืองเคียงคู่กับความรุนแรงอยู่เสมอ เหมือนดาวคู่ฟ้า ต่างกันก็แค่คู่แรกไม่เคยสร้างความจรรโลงใดๆ ให้กับสังคมเลยสักนิด

หนังสือเล่มนี้ก็ได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าความรุนแรง การเข่นฆ่า หักหลัง ทำร้าย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด มักจะปรากฏออกมาให้เห็น โดยเฉพาะในยามที่คนๆ หนึ่งพยายามจะรักษาอำนาจทั้งหมดที่มีอยู่ไว้ให้นานที่สุด หรือยามที่คนๆ หนึ่งพยายามจะชิงอำนาจจากอีกคนหนึ่งมาไว้เป็นของตัว  มันเป็นสัญชาติญาณของมนุษย์ปุถุชนใช่หรือไม่ ไม่ว่าจะสังคมของผู้เจริญแล้ว หรือประเทศโคตรมหาอำนาจ เงามืดของความอำมหิตโหดร้ายก็ยังสามารถแทรกซึมผ่านเข้าไปได้

สิ่งที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษสำหรับหนังสือเล่มนี้คือ การที่ผู้เขียนพยายามเชื่อมโยงปมในวัยเด็กและชีวิตครอบครัวเข้ากับบุคลิกภาพของผู้นำคนหนึ่ง  ความจริงแล้วดิฉันคิดว่าเรื่องการวิเคราะห์บุคลิกภาพจากสภาพชีวิตในวัยเด็กมันไม่ใช่เรื่องยากนัก ดูละครหลังข่าวบ่อยๆ ก็ยังช่วยให้เข้าใจได้เลย แต่เมื่อเป็นเรื่องของผู้นำ โดยเฉพาะผู้นำระดับโลก อย่างโทนี่ แบลร์ นิโคลัส ซาโกซี ฯลฯ หรือแม้แต่ท่านนายกฯ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะของเราก็เถอะ ใครจะไปเอาปมชีวิตวัยเด็กของท่านเหล่านี้มานั่งวิจารณ์ว่าทำไมท่านทำตัวอย่างนั้น ตัดสินใจอย่างนี้

จริงอยู่ ข้อมูลเหล่านี้มันไม่ได้สืบหากันมาได้ง่ายๆ แต่ดิฉันคิดว่าสิ่งที่ทำให้เรามองข้ามเรื่องเหล่านี้ไปเป็นเพราะเรายกบุคคลเหล่านี้เหนือกว่าพวกเรา ท่านๆ ทั้งหลายเหล่านี้ต้องมีความพิเศษเหนือมนุษย์ประชาชนธรรมดาอย่างเรา จิตใจและมันสมองของพวกท่านล้ำลึกซับซ้อนเกินกว่าที่เราจะเทียบเคียง  ดังนั้น เราคงไม่สามารถไปวิจารณ์พวกท่านโดยใช้มาตรฐานเดียวกันกับเราได้หรอก  แต่หลังจากที่ได้อ่านหนังสือเล่มนี้ จะรู้เลยว่าพวกผู้นำมันก็คนเหมือนกับเรานั่นแหละ มีโกรธ มีโลภ ไปตามเรื่อง

อย่างนิโคลัส ซาโกซีนี่ดิฉันชอบมาก ผู้เขียนเล่าว่าตัวของซาโกซีนั้นไม่ได้มีชีวิตวัยเด็กที่ราบรื่น เรียนก็ไม่เก่ง ตัวเล็ก แต่อยากได้รับการยอมรับ เลยต้องทำทุกอย่างเพื่อให้ได้ความสนใจจากคนรอบข้าง ทั้งๆ ที่ก็ทำได้ไม่ดีนัก  จนได้มาเป็นประธานาธิบดียุคใหม่ของฝรั่งเศสเพราะความทะเยอทะยานอยากเด่นอยากดังแท้ๆ เชียว  จะมีเมียไว้อวดชาวโลกก็ต้องหาแบบซะเริ่ดขนาดนั้น ต้องสร้างข่าว ลงหนังสือพิมพ์ คงสมใจเขาแล้วล่ะ  แต่พอมาถึงงานบริหารบ้านเมือง มีอะไรที่เป็นเรื่องเป็นราวบ้างล่ะ บัลลังก์ท่านจะล่มแหล่มิล่มแหล่  หรืออย่างแบร์ลุสโคนี ประธานาธิบดีจอมโฉดของอิตาลี พื้นฐานพี่แกเป็นโจรมาแต่ไหนแต่ไร ในหัวมีแต่เรื่องโกงกับหนีคดีให้พ้นผิด พอมาได้อำนาจก็เลยตั้งหน้าตั้งตาทำแต่เรื่องแก้กฎหมายให้ตัวเองพ้นผิด เพราะพื้นฐานในจิตใจของพี่แกมีอยู่แค่นี้ เป็นมนุษย์กลัวติดคุกติดตาราง อยากมีอำนาจ อยากรวยเหมือนคนทั่วไป ไม่ได้มีอะไรพิเศษเหนือมนุษย์อย่างเราเลย

ผู้เขียนยังได้เสนอสิ่งสำคัญอีกประการที่ทำให้การเมืองหรือผู้นำคนนั้นๆ เป็นอย่างที่เห็น ซึ่งก็คือ ประวัติศาสตร์การเมือง ที่สืบเนื่องกันอย่างใกล้ชิดแบบตัดกันไม่ขาด ถ้าไม่มีการส่งระเบิดพลีชีพไปกำจัดนักการเมืองทั้งเก่าและใหม่ทิ้งอย่างถอนรากถอนโคน  ผู้นำหนึ่งคนเป็นผลพวงของอดีต การเรียนรู้ การรับข้อมูล การตัดสินใจ ล้วนได้รับอิทธิพลจากประสบการณ์ที่ได้จากอดีตทั้งสิ้น บ้างก็ต้องการต่ออดีตนั้นสู่อนาคตเพราะเห็นว่ามันดีอยู่แล้ว บ้างก็ต้องการล้มล้างอดีตนั้นทิ้งเสีย แล้วเริ่มต้นใหม่กับสิ่งที่เขากำลังจะสรรค์สร้าง  แต่ประวัติศาสตร์และประสบการณ์นั้นสำคัญพอๆ กับช่วงชีวิตในวัยเด็กและสภาพแวดล้อมที่เติบโตขึ้นมาเลยทีเดียว ในการที่จะบอกได้ว่าทำไมผู้นำคนนี้ถึงได้คิดแต่เรื่องเอาใจนักการเมืองรุ่นเก่า ทำไมผู้นำคนนั้นถึงต้องการประโคมข่าวผลงานของตนเองมากๆ

การอ่านหนังสือเล่มนี้เหมือนได้อ่านเรื่องราวประวัติศาสตร์อันสนุกสนาน เหมือนดูหนังยุคกรีก-โรมัน ยุคจิ๋นซี ฮ่องเต้ ที่เอะอะอะไรก็ยกทหารไปฆ่าทิ้ง ยึดเมือง ยึดที่นากันซะงั้น แต่นี่เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นจริง บางเหตุการณ์เพิ่งเกิดมาเมื่อไม่นานมานี้ด้วยซ้ำ เสียอย่างเดียวก็คือเรื่องของแต่ละคนมันสั้นไป ซึ่งก็ดีนะคะ จบเร็วดี ผู้เขียนสรุปเหตุการณ์สำคัญมาให้หมดแล้ว แต่บางประเด็นมันอยากรู้ต่อไง ยิ่งประวัติศาสตร์การเมืองของรัสเซียนี่มันส์มาก วลาดิมีร์ ปูตินมาถึงขนาดนี้ได้ถือว่าไม่ธรรมดา แต่อยากอ่านเพิ่มอีกไง อยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้

แต่สุดท้ายก็เข้าใจว่า บทความแต่ละชิ้นของผู้นำแต่ละคนนั้นเขียนขึ้นสำหรับตีพิมพ์ในนิตยสารรายเดือน ดังนั้น จึงต้องกระชับและสามารถจบในตอนได้  พักหลังๆ นี่เจอแต่หนังสือที่รวบรวมบทความที่เคยตีพิมพ์ในนิตยสารเยอะจัง จะว่าไปรู้สึกเหมือนโดนหลอก เอาของเก่ามาปัดฝุ่น แต่งหน้าทาปากขายใหม่ แต่อีกใจหนึ่งก็คิดว่าเราคงไม่มีปัญญามาตามอ่านนิตยสารหลายสิบเล่มได้ในหนึ่งเดือน หรือลงทุนซื้อนิตยสารหนึ่งเล่มเพื่ออ่านเรื่องราวเพียงเรื่องเดียวกันเป็นปีๆ สู้ซื้อหนังสือมาหนึ่งเล่ม อ่านมันรวดเดียวจบเลยดีกว่า ก็ว่ากันไป แต่เล่มนี้ถือว่าคุ้มนะคะ ถ้ามีเล่มสองอีกก็จะตามซื้อมาอ่านอีก แต่เล่มสองนี้จะเขียนถึงใครล่ะ เพราะผู้นำที่รู้จักกันดีในระดับโลกก็เขียนถึงไปหมดแล้ว คงจะเขียนเรื่องผู้นำที่ไปไม่ถึงฝั่งฝัน หรือผู้นำที่โลกไม่อยากจับตามองเลยก็น่าสนใจดีนะคะ  อยากรู้เหมือนกันว่าถ้าผู้เขียนจะต้องเขียนเรื่องนายทักษิณ ชินวัตร เนื้อเรื่องมันจะออกมาเป็นอย่างไร

7.03.2010

"การบริหารมนุษย์ให้สุดยอด"




สุกัญญา รัศมีธรรมโชติ, วชิรพงษ์ สาลีสิงห์, สุธี พนาวร, ภูเบศร์ สมุทรจักร, สุรเชษฏ์ พลวณิช.  การบริหารมนุษย์ให้สุดยอด.  กรุงเทพฯ : สถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติ, 2550.


เคยอ่านเอกสารเผยแพร่ของสถาบันเพิ่มผลผลิตแห่งชาติมานิดหน่อย ชอบที่ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการพัฒนาบุคคลากรให้มีความเป็นผู้นำ มีความคิดสร้างสรรค์ ฯลฯ  ยังแอบตัดเก็บบทความเหล่านั้นไว้อยู่เลย รอว่าสักวัน คงได้นำมาใช้กับชีวิตจริงสักที  แต่ก็นะ เรามันก็แค่ขี้ข้า พอได้เริ่มทำงานก็โงหัวไม่ขึ้น รอรับคำสั่งอย่างเดียวจนลืมเรื่องสำคัญอื่นๆ ในชีวิตไป  ไอ้ที่คิดว่าจะลองทำเพื่อพัฒนาตนเองก็เลยหายไปกับสายลม

ดิฉันเป็นคนที่เชื่อในเรื่องการพัฒนาตนเองอยู่เสมอเป็นอย่างมาก เชื่อว่านี่เป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะนำความสงบและความเจริญมาสู่สังคม เพราะสุดท้ายแล้ว ไม่ว่าเราจะมีระบบและสาธารณูปโภคดีแค่ไหน แต่ถ้าคนยังอ่อนแอ สิ่งดีๆ เหล่านั้นก็จะไม่มีใครนำไปใช้ให้สำเร็จลุล่วงไปได้หรอก “ปลาใหญ่กินปลาเล็ก” “คนโง่ย่อมเป็นเหยื่อของคนฉลาด” มันเป็นจริงได้ทั้งนั้น และมันจะสร้างความเสียหายให้แก่สังคมได้มากทีเดียวหากปลาใหญ่เป็นคนโง่ หรือคนฉลาดเป็นคนเลว  ปัญหาในสังคมที่เราเห็นอยู่ในทุกวันนี้ ก็มาจากความอ่อนแอของคนในสังคมเองนั่นแหละ อ่อนแอทางด้านสติปัญหา อ่อนแอทางด้านทักษะการหาข้อมูลและกลั่นกรองข้อมูล อ่อนแอในการสร้างความเข้มแข็งให้กับตนเองและพวกพ้อง อ่อนแอทางศีลธรรม ฯลฯ

คำถามก็คือ แล้วมันเป็นหน้าที่ใครที่จะทำให้คนในสังคมเข้มแข็งขึ้น บางคนอาจจะตอบว่า เป็นหน้าที่กระทรวงศึกษา ต้องปฏิรูปการศึกษา บางคนบอกว่า สื่อต้องรับผิดชอบมากกว่านี้ บางคนบอกเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะต้องอบรมบ่มนิสัยลูกตนเอง ครูและโรงเรียนแค่ให้ความรู้เฉยๆ ก็ว่ากันไป แต่ถ้าถามดิฉัน คำตอบคือ มันเป็นหน้าที่ของทุกคน ซึ่งไม่ได้หมายถึงว่าเรามีหน้าที่จะต้องไปช่วยให้คนอื่นดีขึ้นหรอกนะคะ แต่หมายถึงว่าเราทุกคนมีหน้าที่ทำให้ตนเองเป็นคนดี ใฝ่หาความรู้เพื่อพัฒนาสมอง มีคุณธรรม และทักษะอะไรต่อมิอะไร เพื่อค้าหาสิ่งดีๆ ให้กับสังคม ฟังดูดี แต่ทำจริงคงโคตรยาก แค่ทำให้คนอื่นเห็นด้วยว่าเราไม่ควรหยุดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองก็ลมจะใส่แล้ว

สำหรับหนังสือ “การบริหารมนุษย์ให้สุดยอด” เล่มนี้น่าสนใจมาก ดิฉันไม่เคยเรียนมาทางด้าน HR ก็เลยไม่รู้ว่าสิ่งที่ได้อ่านมานี้สามารถทำได้จริงในชีวิตประจำวันมากน้อยแค่ไหน แต่อ่านแล้ว รู้สึกเหมือนมันเป็นเรื่องที่ basic มากๆ มากจนดิฉันไม่คิดว่าวัตถุประสงค์ของการพิมพ์หนังสือเล่มนี้คือเพื่อให้ผู้ที่ทำงานในฝ่ายบุคคลหรือผู้ที่ร่ำเรียนมาทางนี้อ่านหรอก  แต่ดิฉันคิดว่ากลุ่มเป้าหมายของหนังสือเล่มนี้คือ พวกผู้บริหาร เจ้านายใหญ่ๆ โตๆ ทั้งหลาย  คนกลุ่มนี้อาจจะไม่ได้มีพื้นความรู้ทางด้าน HR เลยก็ได้ แต่พวกเขาต้องทำงานบริหารคนอยู่ตลอดเวลา ต้องเลือกคน คัดสรรงานให้เหมาะกับคน ฯลฯ ดังนั้น ทักษะทางด้าน HR จึงจำเป็นอย่างมาก

หากพูดจากประสบการณ์ส่วนตัว การทำให้คนในองค์กรมีความสุข มีผลประกอบการสูงๆ ไม่ได้เป็นเรื่องของฝ่าย HR อย่างเดียว แต่ตัวเจ้านาย ลูกน้อง เพื่อนร่วมงาน หรือแม้แต่เนื้องานมีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน อย่างองค์กรที่ดิฉันทำงานอยู่ตอนนี้ HR ดูแค่เรื่องเงินเดือน สวัสดิการ วันหยุดวันลา การเลื่อนขั้น การขอ work permit ฯลฯ แต่ไม่ได้ดูเรื่องจิตใจการทำงาน ไม่ได้ช่วยให้เจ้าหน้าที่เติบโตไปพร้อมกับองค์กร ไม่มีการฝึกฝนเรียนรู้เป็นขั้นเป็นตอน แต่ใช้วิธีการโยนลงน้ำเลย ว่ายได้ก็ไม่จม รอดไป ว่ายไม่ไหวก็จม  ส่วนเรื่องการพัฒนาทักษะ ทั้งการทำงานและการดำรงชีวิต  HR ของที่นี่ยกให้เป็นหน้าที่ของหัวหน้าของเจ้าหน้าที่คนนั้น  ดังนั้น หากใครเจอเจ้านายที่ให้คุณค่ากับการเรียนรู้ก็โชคดีไป แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็อยู่ที่ตัวลูกน้องเองด้วย ว่าจะสามารถพัฒนาตนเองไปได้มากน้อยแค่ไหน บางคนเจ้านายเคี่ยวเข็ญแทบตาย แต่ทัศนคติบ้องตื้น ก็คงไปไหนไม่ได้ไกล

บทความหนึ่งในหนังสือที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษคือ “วิกฤติ Middle Management” โดยสุธี พนาวร  ที่ชอบเพราะมันโดนใจสุดๆ  คงเป็นเพราะดิฉันอยู่ในกลุ่ม middle management ของที่องค์กรนั่นแหละ ถึงได้เข้าใจปัญหาต่างๆ ที่ผู้เขียนอธิบาย  โดยเฉพาะเรื่องที่ตำแหน่งนี้เป็นเหมือนตัวเชื่อมระหว่างฝ่ายต่างๆ  แม้แต่ลูกค้า ก็จะเข้าหาเราก่อนที่จะไปยิงไประดับบริหารเสียอีก  นอกจากนี้ หน้าที่อันสาหัสของคนทำงานระดับกลางแบบนี้คือ การที่เราจะต้องบันดาลทุกสิ่งอย่างที่เจ้านายต้องการให้เป็นจริง ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายเลย แต่องค์กรหลายแห่ง กลับไม่เห็นความสำคัญของ “กองกลาง” สักเท่าไหร่  อย่างที่ทำงานของดิฉัน จะดูแลพนักงานระดับล่างมาก เพราะเงินเดือนจะน้อยกว่า เลยเห็นอกเห็นใจมากกว่า และจะให้ความสำคัญกับผู้บริหารระดับสูงมาก คือ มีรถให้ใช้ เบิกน้ำมันได้ตลอด มีอภิสิทธิ์เหนือมนุษย์ทั่วไป  ส่วนระดับกลางน่ะเหรอ ฝันไปเถอะ

ผู้เขียนบอกว่า ข้อเสียของการไม่ให้คุณค่าผู้บริหารระดับกลางคือ ในอนาคต องค์กรนั้นๆ จะเติบโตช้า เพราะได้ “ผู้บริหารสันดานเสมียน” คือเอาแต่ทำๆๆๆๆ ไม่ได้คิดหาอะไรใหม่ๆ เพราะเคยชินกับการทำงานให้สำเร็จมากกว่าการถ่ายโอนงานให้คนอื่น แล้วเอาเวลาไปคิดเรื่องการสร้างสรรค์ระบบงาน หรือนวัตกรรมใหม่ๆ สำหรับองค์กร สอนงานไม่เป็น พอลูกน้องทำอะไรให้ไม่ถูกใจ (เพราะตัวเองสอนงานไม่รู้เรื่อง) ก็จะเอามาทำเอง สุดท้ายลูกน้องก็งง สับสน เจ้านายก็ทำงานหัวฟูไปเลย  สถานการณ์แบบนี้เกิดขึ้นจริงที่ทำงานของดิฉันนะคะ อาจจะไม่เป็นทั้งหมดในองค์กร แต่มีบางส่วนงานที่เป็นเช่นนี้  ดิฉันรู้เลยว่า ถ้าไม่ทำอะไรสักอย่างหนึ่ง ชีวิตการทำงานคงจะลงเอยที่การเป็นผู้จัดการสันดานเสมียนแน่ๆ เพราะหลายครั้งทิ่ดิฉันเลือกที่จะทำงานนั้นๆ ให้เสร็จเอง แทนที่จะเสียเวลามานั่งอธิบายให้คนอื่นฟังว่าจะให้เขาทำอะไร

ส่วนบทความอื่นๆ ก็มีที่น่าสนใจบ้าง ซ้ำไปซ้ำมาบ้าง อย่างเรื่องการจ้างพนักงานเรื่องเดียว มีอย่างน้อย 3 บทความที่กล่าวถึง แสดงว่าสำคัญมาก หรือไม่ก็ไม่รู้จะเอาอะไรมาลงในหนังสือ (มองโลกในแง่ร้ายจัง)  แล้วก็มีข้อมูลขัดแย้งกันเองด้วยนะ เช่น เรื่องการตรวจสอบประวัติการทำงานกับบุคคลอ้างอิง จริงๆ มันเป็นเรื่องสำคัญ คงไม่มีใครเถียง แต่บทความหนึ่งบอกว่า จะได้ข้อมูลจริงๆ คงจะยาก แต่อีกบทความหนึ่งบอกว่า ยังไงก็ต้องทำ แถมยังบอกวิธีถามคำถามบุคคลอ้างอิงด้วย  ดิฉันก็คิดว่ามันสำคัญในระดับหนึ่งนะ อย่างน้อยก็บอกได้ว่า คนๆ นี้ยังพอจะมีคนที่ยินดีจะพูดแต่เรื่องดีๆ ของเขาอยู่ แต่ข้อมูลที่ได้รับน่ะสิ น่าเชื่อถือมากน้อยแค่ไหน จะมีบุคคลอ้างอิงกี่คนเชียวทีจะไม่โม้เลย

อีกเรื่องหนึ่งที่ชอบมากๆ คือ การจ้าง superstar จากองค์กรอื่น  อ่านแล้วตลกดี มันเป็นเรื่องจริงนะ บางคนคิดว่าเราดึงคนเก่งมากๆ มาจากองค์กรอื่นเพื่อมาช่วยเรา องค์กรเราคงเจริญโรจน์โชติช่วง แต่มันก็มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้ superstar ไม่ประสบความสำเร็จในองค์กรใหม่ได้ มีบอกสถิติไว้ด้วยว่า superstar หลายคนไม่สามารถประสบความสำเร็จเมื่อย้ายองค์กรใหม่ และใช้เวลาหลายปีกว่าจะสร้างความสำเร็จได้ดังเดิม ดิฉันอ่านถึงตรงนี้แล้วหนาวเลย เพราะกำลังจะเปลี่ยนงาน ไม่รู้ว่าไปที่ใหม่แล้วจะรุ่งเหมือนอยู่ที่เก่าไหมนะ แต่อย่าไปคิดมากเลย ดิฉันไม่ใช่ superstar

สรุปง่ายๆ ก็คือว่าหนังสือเล่มนี้ ไม่น่าจะเขียนขึ้นมาสำหรับผู้เชี่ยวชาญด้าน HR คนที่ควรจะอ่านคือ คนที่ทำงานฝ่าย HR แต่ไม่ได้จบมาทางนี้ และพวกเจ้านาย ผู้บริหารทั้งหลาย หากปฎิบัติตามคำแนะนำในหนังสือได้ เชื่อว่าคุณจะกลายเป็นผู้บริหารที่ดี เป็นหัวหน้าที่ลูกน้องรัก เคารพ และจะทำงานให้แบบถวายหัวเลย

เราไม่ได้จงใจเปลี่ยนพฤติกรรมลูกน้อง แต่มุ่งไปที่เปลี่ยนพฤติกรรมและความคิดของเราเอง เพื่อให้เป็นคนดีขึ้น ซึ่งดิฉันเชื่อว่ามันเป็นหน้าที่ของเราทุกคนดังกล่าวมาข้างต้น เมื่อเราเป็นคนดี มีจิตใจที่ดี มันจะต้องส่งต่อไปยังตัวลูกน้องได้บ้างล่ะน่า ในหนังสือ เขายังอ้างว่าความหงุดหงิด หรืออารมณ์อันเลวร้ายทั้งหลาย เป็นเชื้อโรคที่ติดต่อกันได้ ดังนั้น ความรู้สึกดีๆจากคนๆ หนึ่ง ก็น่าจะติดต่อไปยังคนอื่นๆ ได้ น่าทดลองทำดูนะคะ ไม่มีอะไรต้องเสียนี่นา

5.30.2010

"พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?"





ทรงกลด บางยี่ขัน, จิราภรณ์ วิหวา และ ณัฐชนน มหาอิทธิดล.  พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?.  กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก, 2553

คนโลกแคบๆ อย่างดิฉัน ไม่เคยเจอใครมีคำถามที่ว่า “พระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่” เลย  แต่นั่นคงไม่ได้หมายความว่า เราเชื่อทุกสิ่งอย่างที่ได้ร่ำเรียนหรือได้ยินได้ฟังมาหรอก เพราะเรามีคำถามอีกมากมาย ซึ่งดิฉันคิดว่าตั้งต้นจากความสงสัยเรื่องบาปเรื่องกรรม โดยเฉพาะจากตัวอย่างในโลกแห่งความเป็นจริงที่ว่า คนที่ทำแต่ความดีกลับไม่ค่อยได้อะไรตอบแทน แต่คนชั่วกลับรวยเอาๆ ไม่เห็นโดนธรณีสูบอย่างพระเทวทัตเลย  พุทธศาสนาเลยกลายเป็นเรื่องตำนานที่เอาไว้ข่มขู่ให้เรากลัวบาป กลัวผี กลัวว่าชาติหน้าจะเกิดเป็นเปรตเท่านั้นเอง ใครกลัวก็หมั่นทำความดีไป ใครไม่เชื่อก็ใช้ชีวิตโดยให้กิเลสตัณหาเข้าครอบงำ

แต่หากได้อ่านหนังสือ “พระพุทธเจ้ามีจริงไหม?” เล่มนี้แล้ว จะรู้ว่าคำตอบของข้อสงสัยเหล่านี้ ไม่มีความสำคัญเลยเมื่อเทียบกับการพยายามศึกษาและปฏิบัติธรรมเพื่อให้หลุดพ้นจากบ่วงกิเลสทั้งหลาย

หนังสือเล่มเล็กๆ เล่มนี้  แสดงให้เห็นถึงอำนาจของคำถามและการตอบคำถามที่ท้าทายระดับปัญญา  เราคงเคยได้ยินครูพูดอยู่บ่อยๆ ว่ามีอะไรให้ถาม ไม่มีคำถามที่ถูกหรือผิด คำถามต่างๆ ในหนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน จะมีสักกี่คนที่กล้าไปถามพระสงฆ์ว่า “พระพุทธเจ้ามีจริงไหมครับ” หรือ “พระเครื่องศักดิ์สิทธิ์จริงไหมครับ” หรือ “ศาสนาสอนว่าที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ แล้วอย่างนี้เราควรมีความรักไหมคะ” ดิฉันจำได้ว่าเคยถามพระสงฆ์รูปหนึ่งว่า “ที่หนังสือบอกว่า สัตว์นรกจะได้รับส่วนบุญเฉพาะวันพระ จริงหรือเปล่าคะ” เพื่อนดิฉันที่ไปไหว้พระด้วยกันคงจะอายแทน เพราะหลังจากนั้นไม่เคยไปไหว้พระด้วยกันอีกเลย

สิ่งที่น่าสนใจอย่างมากคือ ไม่ว่าคำถามจะมาในรูปแบบใด จะอิงวิทยาศาสตร์แล้วมาเปรียบเทียบกับพุทธศาสนา หรือจะมาจากความใคร่รู้ส่วนตัวในเรื่องที่หลายคนมองว่า “ถ้าไม่เชื่ออย่าลบหลู่” พระสงฆ์ทั้ง 9 รูปผู้ที่มาตอบคำถามนั้น จะตอบไปในแนวทางเดียวกัน คือไม่ตอบ yes หรือ no เลย ไม่มี ถูก หรือ ผิด

แต่คำตอบกลับนำไปสู่คำถามที่ใหญ่กว่านั้น คำถามที่เราต้องกลับมาถามตัวเองก่อนที่จะสร้างปัญญาต่อไป (ถ้าเราพยายามจะเข้าใจจริงๆ แต่ถ้าไม่ก็จบอยู่แค่ที่ว่า “ท่านตอบไม่ตรงคำถามนี่หว่า”) ยกตัวอย่างจากคำถามที่นำมาเป็นชื่อหนังสือเลย “พระพุทธเจ้ามีจริงไหมครับ” พระประสงค์ ปริปุณฺโณ ตอบว่า “เธอเชื่อว่าปู่ของเธอมีจริงไหม แล้วปู่ของปู่ของเธอมีจริงหรือเปล่า แล้วปู่ของปู่ของปู่เธอล่ะ...” แล้วท่านก็ว่าต่อไปถึงเรื่องศาสนาคริสต์เชื่ออย่างนั้น ศาสนาอิสลามว่ากันอย่างนี้ ไปนู่นเลย แต่สำหรับดิฉัน คำตอบคือ เราจะไปยึดติดทำไมว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่จริง เพราะสิ่งที่สำคัญกว่านั้นคือ เรามีหนทางดับทุกข์อยู่ หนทางที่เราจะต้องเห็นสิ่งที่เป็นความจริง นั่นคือ เกิด แก่ เจ็บ ตาย มีเกิดมีดับ ยอมรับและปล่อยวางให้ได้ ซึ่งก็จะเห็นว่า ไม่มีส่วนใดเลยที่จะต้องรู้ว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือเปล่า

สิ่งหนึ่งที่พระสงฆ์ผู้ปรีชาทั้ง 9 รูปพูดเหมือนกันคือ พระพุทธเจ้าไม่ได้สอนให้เราเชื่อ ท่านสอนให้เราทำ ให้ลองปฎิบัติตามดู แล้วจะเห็นเอง เห็นจริง เห็นแท้ เห็นแจ้งธรรมชาติ

ตอนหนึ่งในหนังสือที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษคือ ช่วงคำถามเกี่ยวกับวัยรุ่นกับธรรมะ ซึ่งเป็นตอนที่พระมหาวุฒิชัย วชิรเมธี (ว.วชิรเมธี) เป็นผู้ตอบ ท่านบอกว่า ต้องสร้างแรงบันดาลใจ คนจะสนใจพุทธศาสนาได้จะต้องมีครูที่ดี ต้องรู้ว่าธรรมะเป็นสิ่งวิเศษ และยิ่งถ้าได้เห็นกับตัวเองเลยว่าธรรมะช่วยแก้ปัญหาในชีวิตได้ คนๆ นั้นจะมีแรงบันดาบใจที่จะศึกษาธรรมะต่อไป  ดิฉันเห็นด้วยที่พระมหาวุฒิชัยบอกว่าการเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนาในเมืองไทยไปไม่ถูกทาง เพราะครูใช้วิชาพุทธศาสนาและการนั่งสมาธิเป็นการลงโทษ เด็กๆ จึงสร้างอคติกับพุทธศาสนาได้ง่าย

ประเด็นนี้เชื่อมโยงไปถึงช่วงคำถามเกี่ยวกับพิธีกรรมต่างๆ ในพุทธศานา เช่น การพรมน้ำมนต์ การเจิม ฯลฯ ซึ่งพระศรีญาณโสภณตอบไว้ว่า พิธีกรรมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบุญ งานศพ งานก่อสร้างโบสถ์สร้างวิหาร ล้วนเป็นกระบวนการที่ดึงคนให้เข้าใกล้ธรรมะมากขึ้น เป็นเพียงเปลือกนอก คนหลายคนเข้าหาพุทธศาสนาก่อนด้วยการทำบุญ เข้าวัดมากขึ้น ถวายของให้พระแล้วเห็นผล ผลคือพระได้ของและเรามีความสุขขึ้น เราจึงเห็นวัดพยายามสร้างสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวกญาติโยมให้เข้าวัดมากขึ้น เช่น จัดชุดสังฆทานไว้ให้เลย แถมยังมีคนนำสวด หรือบทสวดไว้บริการอีกต่างหาก แต่นั่นไม่ได้หมายความว่าเรากลายเป็นคนที่สามารถละกิเลสหรือปล่อยวางเลย  ซึ่งดิฉันคิดว่ามันก็เหมือนกันการสร้างแรงบันดาลใจ คือเริ่มทำให้คนรู้สึก ได้อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่มีคนสนใจทำความดี ได้เริ่มศึกษา แล้วจึงเริ่มขยายต่อไปยังการปฏิบัติธรรมเพื่อปล่อยวาง ซึ่งเป็นแก่นแท้ของพุทธศาสนา

และเพียงแค่สองตัวอย่างที่กล่าวมานี้ก็ทำให้ดิฉันเข้าใจได้แล้วว่า คำถามที่เรามีเป็นเพราะเราไม่เคยเห็นผลของการทำดีหรือทำชั่ว ทำดีได้ดีทำชั่วได้ชั่วมีแต่ในละคร เราเข้าหาพิธีกรรมต่างๆ การทำบุญ การบริจาคเพราะเราคิดว่ามันจะทำให้ชีวิตเราดีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ไม่ใช่แค่สบายใจอย่างเดียว แต่ในเมื่อเราทำแทบตาย กลับไม่เห็นว่าส่วนไหนของชีวิตเราดีขึ้น เราก็ต้องเกิดคำถามขึ้นเป็นธรรมดา

และเพียงแค่สองตัวอย่างนี้ก็น่าจะเพียงพอกับการอธิบายได้แล้วว่า ทำไมเราจะต้องไปสนใจด้วยว่าพระพุทธเจ้ามีจริงหรือไม่มีจริง ตำนานต่างๆ ตั้งแต่พญานาคจำแลงกายเป็นมนุษย์เพราะอยากบวชเป็นพระสงฆ์ ไปจนถึงไฟจะล้างโลกทุกห้าพันปี เป็นเรื่องจริงหรือไม่ หรือการจัดงานบุญ การเจิม การพรมน้ำมนต์ ฯลฯ ได้ผลจริงหรือไม่ เพราะทั้งหมดทั้งมวลนี้ เป็นเพียงสิ่งที่พยายามดึงเราให้เข้าหาความจริงอันเป็นแก่นแท้ของธรรมชาติและการดับทุกข์  แม้แต่การบวชเป็นพระสงฆ์ ก็อาจจะเป็นพิธีกรรมและการดำรงชีวิตที่ช่วยให้เราสามารถเข้าถึงนิพพานเร็วขึ้น แต่ดังที่พระภาสกร ภูริวฑฺฒโนกล่าวไว้ว่าเราไม่ต้องครองผ้าเหลืองก็เข้าถึงนิพพานได้

นี่หมายความว่าอะไรเล่า สำหรับดิฉัน มันหมายความว่าหนทางแห่งการดับทุกข์นั้นมีอยู่แล้ว พุทธศาสนาได้เสนอหนทางนี้ไว้ให้แล้ว และหนทางที่จะเดินกันไปนี้ เราไม่จำเป็นที่จะต้องหันกลับมาถามว่า “ต้องบูชาพระเครื่องไหม จะได้เข้านิพพานเร็วขึ้น” หรือ “บุญที่เราได้มาอยู่ที่ไหน” อีกต่อไป

สำหรับคนที่ศึกษาเรื่องพุทธศาสนาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง หากได้อ่านหนังสือเล่มนี้คงจั๊กจี้หัวใจไม่เบา ดิฉันคงบอกไม่ได้ว่านี่คือหนังสือพุทธศาสนาหรือไม่ มันไม่ได้มีบทสวดมนตร์แถมท้าย ไม่มีขั้นตอนการกำหนดลมหายใจทำสมาธิ ไม่มีคำนำที่ขออนุโมทนาบุญ หรือมีรายชื่อผู้บริจาคพิมพ์หนังสือ  แต่นี่เป็นหนังสือสำหรับผู้ที่สงสัยในพุทธศาสนา ผู้ที่คิดว่าพุทธศาสนาเป็นเรื่องปาฏิหาริย์ เรื่องงมงาย

ดิฉันแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มนี้อย่างจริงใจ เพราะอ่านง่าย ให้ความรู้สึกเหมือนได้นั่งฟังเทศน์ในบรรยากาศสบายๆ ได้ถามคำถามอะไรก็ได้ที่เราอยากรู้โดยที่ไม่ต้องอายใคร รู้ก่อนที่เราจะไม่เหลือศรัทธาใดๆ ให้กับพุทธศาสนาอีกต่อไป