3.07.2010

"ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง"



 

ทันตแพทย์สม สุจีรา.  ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง.  กรุงเทพฯ : อมรินทร์, 2552.



ทั้งๆ ที่ผู้เขียนท่านนี้มี best seller เยอะมาก อย่าง “เดอะ ท็อป ซิเครท” น่าจะกลายเป็นหนังสือยิดฮิตตลอดกาลของวงการไปแล้ว ทว่า ดิฉันก็แทบไม่เคยคิดจะอ่านหนังสือใดๆ ของทันตแพทย์สม สุจีราเลย  แต่ในภาวะที่หัวใจสลายเรื้อรังมากว่าหกเดือน ใยเลยดิฉันจะข้ามผ่านคำกล่าวที่ว่าผู้ชายด้อยกว่าผู้หญิงได้เล่า มันต้องการอะไรก็ได้ที่มาเสริม self-esteem

“...เพศหญิงมีทวาร 6 ที่ทรงประสิทธิภาพมากกว่าเพศชายถึง 3 เท่า เธอมองเห็นสีสันได้กว่า 200 เฉดสี แต่เพศชายแยกได้ไม่ถึง 70 สี ไม่ต้องสงสัยว่า ทำไมผู้หญิงจึงหลงใหลสีฉูดฉาดของเครื่องแต่งกาย ชื่นชอบความวูบวาบของเครื่องเพชรมากกว่าผู้ชาย ...ผู้หญิงบางคนจะพูดโดยเฉลี่ยวันละ 20,000 คำ ถ้าน้อยเกินไปเธอจะอึดอัด ในขณะที่ผู้ชายพูดประมาณ 7,000 คำต่อวัน แม้น้อยกว่านี้เขาก็รู้สึกเฉย...”

แม้ข้อความข้างบนนี้จะจี้ใจดำความเป็นหญิงไปบ้าง แต่นี่แหละ คือสิ่งที่จะช่วยเยียวยาให้ความมั่นใจในความเป็นผู้หญิงของตนเองกลับคืนมา ยังมีอีก ผู้หญิงจมูกไวมาก ยิ่งตอนที่มีประจำเดือน คือเป็นช่วงที่ฮอร์โมนเอสโตรเจนสูง จมูกจะไวเป็นพิเศษ สามารถแยกกลิ่นได้ 4,000 ชนิด ในขณะที่ผู้ชายแยกได้แค่ 2,000 ชนิด  ครึ่งต่อครึ่งเลยนะเนี่ย

แต่ความหมายอันแท้จริงของการมีทวารอันทรงพลังก็คือ เพศหญิงมีแนวโน้มที่จะสร้างกิเลสได้มากกว่าผู้ชายในทุกทวาร หรือผู้หญิงสามารถสร้างกรรมให้ตัวเองมากกว่าผู้ชายได้หลายเท่า

ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเองเป็นหนังสือประเภท เรียนธรรมะแบบคนรุ่นใหม่ คนรุ่นที่ถูกกล่อมด้วยความคิดที่ว่าคนรุ่นใหม่ย่อมฉลาดกว่าคนรุ่นเก่า และมีหน้าที่ท้าทายความเชื่อเดิมๆ ไม่ยอมซูฮกให้กับคำสอนเก่าๆ คนรุ่นที่นึกว่าตัวเองเก่ง เท่ห์ เพราะหาหลักฐานที่จับต้องได้มาหักล้างความรู้เก่าๆ แล้วบอกว่าเราฉลาดกว่า เรารู้มากกว่า เราเปิดรับสิ่งใหม่ๆ มากกว่า  นี่ดิฉันอคติกับคนรุ่นตัวเองมากเกินไปหรือเปล่านะ

สิ่งที่ทันตแพทย์สม สุจีราเผยแพร่มาโดยตลอด คือ พิสูจน์ว่าพุทธศาสนาสามารถอธิบายทุกสิ่งที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้  และพุทธศาสนาเป็นหลักธรรมชาติสูงสุด จริงแท้ที่สุด ที่มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์มาอ้างอิง หนังสือเล่มนี้ก็เช่นกัน เป็นการรวบรวมข้อมูลการวิจัยการรับรู้ผ่านทวารต่างๆ ของเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้หญิง ผู้ชาย เพื่อยืนยันว่า ผู้หญิงมีกรรมมากกว่าผู้ชาย การได้เกิดมาเป็นผู้หญิงคือการที่ต้องมาชดใช้กรรมมากกว่าการได้เกิดมาเป็นชาย

ดิฉันได้อ่านหนังสือเกี่ยวกับพุทธ ศาสนาอยู่ไม่มากก็น้อย มีอยู่เล่มหนึ่ง พยายามอธิบายว่ากรรมมีจริง แต่เล่าเป็นแนวนิทาน ว่าเคยมีคนๆ นี้ ไปพรากลูกพรากเมียเค้ามา ไม่ทำมิดีมิร้ายหญิงอื่นที่มิใช่ภรรยาตนในชาติโน้นชาตินี้ คนนี้เลยต้องมาใช้กรรมตั้งหลายชาติ ชาติถัดมาเกิดมาเป็นชายที่มีจิตใจเป็นหญิง ชาติถัดมาเป็นชายที่โดนข่มขืน ชาติถัดมาก็เป็นนู่นเป็นนี่ โดนนั่นโดนนี่ จนเกือบจะหมดกรรมนี้แล้ว มาถึงชาติสุดท้ายที่จะต้องใช้กรรมนี้ คือ ชาติที่จะต้องเกิดมาเป็นหญิง  แต่หนังสือเล่มนั้นกลับไม่ได้อธิบาย หรือให้เหตุผลใดๆ ว่า แล้วทำไมจะต้องเป็นผู้หญิงด้วย

คุณแม่ของดิฉันเป็นผู้เลื่อมใสในพุทธศาสนาก็เคยบอกกับดิฉันเช่นนี้เหมือนกัน คือ คนที่เกิดมาเป็นผู้หญิงคือคนที่มีกรรม  พอดิฉันถามว่าทำไม คุณแม่บอกว่า เพราะต้องเป็นเพศที่อุ้มท้อง คลอดลูก ต้องทนเจ็บกายมากกว่าผู้ชาย  คุณแม่ยังบอกอีกว่า ภิกษุณีมีศีลที่ต้องรักษาตั้ง 300 กว่าข้อ แต่ของภิกษุ มีแค่ 200 กว่าข้อเอง ก็น่าจะเป็นไปได้เนอะ แต่คำตอบของคุณแม่ยังไม่สามารถทำให้ดิฉันหมดข้อสงสัยไปได้

กลายเป็นว่าหนังสือ ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเอง เล่มนี้ที่ช่วยให้ดิฉันกระจ่างขึ้น  ซึ่งเมื่อย้อนดูตัวเองแล้ว อาจจะเป็นจริงก็ได้ ดิฉันเป็นคนที่หลงใหลในรูป รส เสียง เป็นคนที่ชอบสีสันอันฉูดฉาด ชอบฟังเพลงเพราะๆ ชอบเสาะหาของกิน ไวน์แดงเจ๋งๆ เหล้าวิสกี้เริ่ดๆ เวลาจะไปเที่ยวต้องขอบรรยากาศก่อน คือน่าจะเป็นคนที่ได้ใช้ทวารทั้ง 6 ของตนเองอย่างเต็มที่ เพราะอย่างนี้ละมั้ง ถึงมีแฟนได้ไม่นาน มีแต่คนทิ้ง กรรมชั่วของดิฉันมันเยอะเสียเหลือเกิน ว่าไปนู่น

ตอนที่อ่านหนังสือเล่มนี้ แม้จะรู้ทั้งรู้อยู่เต็มอกว่าผู้เขียนต้องการจะบอกอะไร แต่ดิฉันก็ยังอดภูมิใจน้อยๆ ไม่ได้ ที่ธรรมชาติสร้างผู้หญิงให้แข็งแรงกว่าผู้ชาย  ดิฉันคิดว่า การที่ผู้หญิงสามารถรับรู้สิ่งรอบข้างจากทวารทั้ง 6 ได้มากนั้น มันก็อาจจะช่วยให้ผู้หญิงสามารถรับรสพระธรรมได้มากขึ้น เข้าใจความทุกข์ ความสุข ความเศร้า ความสงบ ได้มากขึ้น เรียนรู้ได้เร็วขึ้น แต่เมื่อเรียนรู้แล้ว ก็ต้องตัดความเชื่อในความเป็นอัตตาของทุกอย่างออกให้ได้ ซึ่งดิฉันเชื่อว่าผู้หญิงก็ต้องทำได้ดีไม่แพ้ผู้ชายเหมือนกัน  แต่เรื่องตลกก็คือ ในระหว่างที่ดิฉันมีความคิดเหล่านี้อยู่ มันกลับหมายถึงการยึดติด การเอาชนะ ซึ่งเป็นการสร้างเวทนาผ่านทางทวาร ตา และ ใจ เหมือนกัน  ใช่หรือไม่ การปฏิบัติธรรมนี่ยากจริงๆ เลย

ดิฉันพยายามที่จะเป็นคนดีอยู่เสมอ เป้าหมายแรกๆ ของคนกรรมหนาอย่างดิฉัน ก็แค่สามารถสวดมนตร์อย่างสม่ำเสมอ รักษาศีลห้า ทำบุญตักบาตร ให้ได้เป็นนิจ เท่านี้ก็ภูมิใจแล้ว หลังจากนั้นก็ก้าวไปยังเป้าหมายต่อไป คือการหัดทำสมาธิ การทำวิปัสนา  ดังนั้น ดิฉันจะมีความสุขความยินดีอยู่เสมอที่เห็นคนตั้งใจทำความดี เห็นคนใส่บาตร คนที่ซื่อสัตย์ ไม่คดโกง คนที่มีน้ำใจ รักพ่อแม่พี่น้องเพื่อนฝูงอย่างถูกต้อง คนที่ต้องการหาความรู้ที่ดี พัฒนาตนเองอยู่เสมอ และจะคอยให้กำลังใจคนรอบข้างอยู่ตลอด  ดิฉันสงสารคนที่ทำแต่กรรมชั่วมาก หรือคนที่คิดแต่สิ่งเลวร้าย จับผิด หาข้อเสียของคนอื่น  ซึ่งดิฉันอาจจะอินกับเหตุการณ์เหล่านี้มาก เพราะทวารทั้ง 6 ทำงานได้ดีเสียเหลือเกิน แต่คำถามคือ สิ่งเหล่านี้คือการยึดติดการการรับรู้ทางทวารทั้ง 6 หรือไม่

อีกสิ่งที่ดิฉันทำคือ สำรวมให้มากขึ้น พูดให้น้อยลง พูดแต่สิ่งดีๆ ซึ่งก็คือการรักษาศีลข้อ 4 นั่นแหละ พออ่านหนังสือเล่มนี้เลยรู้สึกว่า นี่เรากำลังจะทำตัวเป็นผู้ชายแบบในหนังสือเลย พูดน้อย ไม่ใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เลือกฟัง เลือกจำแต่สิ่งที่ดี  แต่สุดที่รักคนที่เพิ่งจะร้างลากันไปกลับเป็นผู้ชายที่พูดมากเสียเหลือเกิน เชื่อเลยว่าพูดมากกว่าวันละ 7,000 คำล่ะ และเป็นคนที่จะเอารายละเอียดเลวร้ายของคนอื่นมาเป็นสิ่งให้ตนเองทุกข์ใจอยู่ เสมอ ดิฉันแทบจะไม่ใช้ความสามารถทางทวารทั้ง 6 ไปจับผิด ไม่ไปสูดดมว่าแอบไปเจอกิ๊กมาหรือเปล่า หรือแอบไปกินเหล้าแล้วไม่ชวนมาหรือเปล่า ไม่เอาใจไปจำเรื่องเก่าๆ ที่เคยเถียงกัน หรือเรื่องที่เป็นความผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็มีบ้างที่สุดท้ายก็ต้องทะเลาะกันเถียงกันเพราะทนไม่ไหว แต่สิ่งที่อยากจะบอกคือ ถึงแม้ว่าผู้หญิงจะต้องใช้ความพยายามมากขึ้นที่จะตัดการรับรู้ กิเลส และเวทนา แต่หากได้อยู่ท่ามกลางผู้ที่มีความพยายามเดียวกัน หรือในสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการไปถึงเป้าหมายแห่งการบรรลุ คงไม่มีอะไรที่ผู้หญิงทำไม่ได้

ดิฉันยังมีคำถามอีกเยอะเลยหลังจากอ่าน หนังสือเล่มนี้จบ ส่วนใหญ่คงเป็นคำถามเกี่ยวกับพุทธศาสนา การปฏิบัติธรรม เพราะดิฉันมีความรู้เรื่องนี้เพียงน้อยนิดเท่านั้น  แต่คิดว่าควรจะจบการเขียนถึงหนังสือ ทวาร 6 ศาสตร์แห่งการรู้ทันตนเองของทันตแพทย์สม สุจีรา ไว้เท่านี้ก่อนดีกว่า เพราะเดี๋ยวมีคนบ่นว่ายาวเกิน  แต่บอกตรงๆ ด้วยทวารปากเลยค่ะ ว่าเป็นหนังสือที่ดี อ่านง่าย มีเกร็ดความรู้มากมาย ซึ่งถ้าไม่สนใจพุทธศาสนาก็ยังอ่านได้ หากมีความรู้เรื่องพุทธศาสนาและธรรมะพอสมควร น่าจะอ่านได้เร็วและไม่สับสนเลยค่ะ

1 comment:

  1. เป็นหนังสือที่ดีครับ

    ReplyDelete