11.17.2009

"Inside ผู้หญิง"





ได้หนังสือเล่มนี้จากงานมหกรรมหนังสือฯ เมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมานี่เองค่ะ แต่ว่าเห็นโฆษณามาสักพักหนึ่งแล้ว ได้ทีก็เลยรีบซื้อ

"Inside ผู้หญิง" โดย พ.ญ.ชัญวลี ศรีสุขโข จากสำนักพิมพ์มติชน หนังสือเล่มไม่เล็กไม่ใหญ่ มีเรื่องทั้งน่ารัก น่ากลัว น่าขนลุก เกี่ยวกับสุขภาพระบบสืบพันธุ์ของทั้งผู้หญิงและผู้ชาย  ส่วนใหญ่เป็นเรื่องของผู้หญิง แต่พอมาเกี่ยวข้องกับเรื่องเพศสัมพันธ์และชีวิตคู่ มันก็ต้องมีเรื่องของผู้ชายรวมอยู่ด้วยแน่นอน

ที่ตัดสินใจเลือกเล่มนี้ เพราะคำโปรยหน้าปก ที่บอกว่า "วิธีดูแล ป้องกัน... เพื่อรับมือกับโรคทางสูติ-นรีเวช เรื่องสำคัญใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม" ก็เลยเหมาคิดไปเองว่า น่าจะเกี่ยวข้องกับการดูแลตัวเราเพื่อไม่ให้เกิดโรคต่างๆ ที่ผู้หญิงกลัว เช่น มะเร็งปากมดลูก มะเร็งรังใข่ เชื้อรในช่องคลอด หรือแม้กระทั่งโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์  แต่พออ่านเข้าจริงๆ มีเรื่องอื่นๆ มากกว่าที่คิดเยอะค่ะ ถ้าให้พูดรวมๆ ก็คือมีตั้งแต่เรื่องที่สาวๆ วัยรุ่นน่าจะเจอ เช่น ประจำเดือนมาไม่ปกติ ไข้ทับระดู เป็นต้น พอมาถึงวัยงามหรือวัยแต่งงาน ก็จะเป็นเรื่อง อย่างการตรวจสุขภาพก่อนแต่งงาน การบำรุงครรภ์ ครรภ์เป็นพิษ การเลือกเพศของลูก การคลอด เป็นต้น และวัยกลางคนถึงวัยทอง ก็จะมีเรื่องอย่างการถอดหมัน การตั้งครรภ์ตอนอายุเยอะ การตัดมดลูก ปัญหาเกี่ยวกับมดลูก  พูดง่ายๆ ก็คือ ครอบคลุมชีวิตผู้หญิงได้ตั้งแต่เด็กจนแก่เลยค่ะ

ตอนที่เริ่มอ่าน ดิฉันเลือกหัวข้อที่อยากรู้ก่อน คือ การเลือกเพศลูกแบบธรรมชาติ การคลอดตามฤกษ์ ซึ่งไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพราะยังไม่ได้แต่งงานเลย ไม่มีแฟนด้วย เลยไม่ได้คิดเรื่องมีลูก แต่หัวข้อเหล่านี้เป็นสิ่งที่อยากรู้มานาน เป็นไปได้จริงหรือที่เราจะเลือกเพศลูกได้ และอยาก confirm พวก myth ต่างๆ ที่เคยได้ยินได้รู้มาบ้าง เช่น หากอยากได้ลูกชายต้องทำตอนเช้า อยากได้ลูกสาวต้องทำท่านี้ อะไรอย่างนี้ เป็นต้น  สำหรับหนังสือเล่มนี้ ถือว่าให้รายละเอียดที่ดีมากค่ะ ไม่รู้สึกว่าเป็น myth แต่เป็นสิ่งที่อธิบายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ มีที่มาที่ไป และได้รับคำตอบกับตัวเองแล้วว่า การเลือกเพศของลูกเป็นไปได้ และมีวิธีมากมายที่ทำได้โดยไม่ต้องฝืนธรรมชาติด้วย  อ่านช่วงนี้แล้วรู้สึกอยากแต่งงานมีลูกเลยค่ะ

หลังจากนั้น จึงกลับมาอ่านตามเนื้อหาจริงๆ ของหนังสือ ตอนที่อ่านเรื่องวัยรุ่นทั่วไปก็ยังรู้สึกโอเคนะคะ มีเรื่องน่ารู้เยอะ และเรื่องใหม่ๆ ที่ไม่น่าจะมาเจอในหนังสือเกี่ยวกับเรื่องภายในสตรีก็ยังมี เช่น โรคทางพันธุกรรมกลุ่มเทอร์เนอร์ซินโดรม คุณหมอผู้เขียนยังแถมวิธีการเลี้ยงดูลูกที่มีอาการกลุ่มนี้ให้ด้วยค่ะ

พออ่านมาถึงช่วงวัยพ่อแม่ วัยทอง กลับรู้สึกว่าไม่อยากมีลูกแล้ว  อาจจะไม่ถึงกับไม่อยากหรอกค่ะ แต่คิดว่าถ้าไม่พร้อมอย่ามีเลย  การมีลูกไม่ใช่เรื่องที่จะคิดเปลี่ยนใจกันง่ายๆ ไม่ใช่ว่า อยากมี แต่พอมีกลับเปลี่ยนใจ หรือไม่อยากได้เพศนี้ละ หรือกลัวลูกพิการ เอาออกดีกว่า คุณหมอผู้เขียนบอกว่ามีเคสแบบนี้เยอะเสียด้วยสิ  และยังมีพวกที่ทำหมันไปแล้ว และเปลี่ยนใจอยากมีลูกอีก เพราะแต่งงานใหม่ เลยจะถอดหมัน คุณหมอบอกว่าแบบนี้ก็มีเยอะค่ะ

ดิฉันไม่อยากจะเอาเรื่องทางศีลธรรมอะไรเข้ามาเกี่ยวข้องตรงจุดนี้ และคุณหมอผู้เขียนก็ดูเหมือนจะพยายามอย่างเต็มที่ที่จะไม่เอาประเด็นนี้มาตัดสินคนไข้ของเธอเอง แต่การทำแท้งด้วยวิธีต่างๆ ไม่ได้เป็นผลดีใดๆ ต่อร่างกายของผู้หญิงเลย ทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็ง กลายเป็นคนมีลูกยาก คนที่มดลูกไม่แข็งแรง ครรภ์เป็นพิษหากมีลูกอีก หรืออะไรต่อมิอะไรอีกสารพัด อย่างไรเสีย ควรจะคิดให้ดีก่อนนะคะ ก่อนที่จะเสียใจภายหลัง

ความจริงแล้วประเด็นเรื่องการทำแท้งมีการถกเถียงกันมานานเหลือเกิน  โดยส่วนตัว ดิฉันไม่ได้เห็นด้วยกับการทำแท้ง 100% แต่ก็ไม่ได้ต่อต้านไปเสียทีเดียว  ดิฉันมองว่ามันเป็นทางเลือกที่จะรักษาชีวิตของใครคนหนึ่งเอาไว้ หากผู้หญิงคนหนึ่งต้องการเอาลูกออกเพราะพบว่าลูกจะพิการ หรือมีโรคร้ายแรง หรือเพราะมีปัญหาในครอบครัว เรื่องเงิน เรื่องทองกระทันหัน และไม่อยากให้ลูกต้องเกิดมาพบแต่ปัญหา อันนี้ดิฉันคิดว่าไม่ผิดนะคะ  แต่ที่รบกวนใจมากคือ หากผู้หญิงมองแค่ว่ามันเป็นการแก้ปัญหาจากความไม่รับผิดชอบในการใช้ชีวิตของตนเอง เช่น มีเพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน รักสนุก ดิฉันยอมรับไม่ได้ค่ะ ดิฉันไม่ต้องการให้คนทั่วไป โดยเฉพาะเด็กวัยรุ่น คิดว่าทำอะไรก็ทำไปเถอะ เกิดอะไรขึ้นก็ไปเอาออกก็ได้ ดิฉันไม่อยากให้ทุกคนมองว่าวิธีนี้เป็นสิ่งที่ยอมรับได้ในสังคมทั่วไป ไม่อยากให้คนมองว่า ไม่เห็นเป็นไร เรื่องธรรมดา  ดิฉันเชื่อว่า การป้องกันที่แท้จริงคือ การให้ความรู้และการสร้างค่านิยมที่ดี  ดังนั้นจะทำอะไร คิดหน้าคิดหลังให้ดีๆ นะคะ คิดถึงคนเป็นพ่อเป็นแม่ของเราให้มาก

นอกจากการเปลี่ยนใจภายหลังแล้ว ยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ทำให้ต้องคิดหนักทีเดียวก่อนจะมีลูก คือ การเลี้ยงดู  ดิฉันเชื่ออย่างยิ่งว่า พ่อแม่ทุกคนอยากให้ลูกเป็นคนดี มันเป็นสัญชาติญาณ  แต่พ่อแม่หลายคนก็ทำไม่ได้ ด้วยเหตุผลหลากหลายประการ แต่มีเพียงประการเดียวที่ดิฉันรับไม่ได้คือ  พวกที่ใช้อารมณ์ส่วนตัว หรือมีทิฐิมากเกินไป จนเลี้ยงลูกแบบขอไปทีบ้าง เลี้ยงเพราะประชดคนอื่นบ้าง เลี้ยงแบบเพื่อสนองความไร้เหตุผลของตนเองบ้าง สุดท้ายลูกที่เกิดคงเป็นคนดีน้อย ถ้าดีได้ก็เพราะเป็นความใฝ่ดีที่ตนเองมีอยู่  ดิฉันจึงคิดเสมอว่า ถ้าตนเองไม่คิดจะศึกษาหรือพยายามเลี้ยงลูกให้เป็นคนดี ก็อย่ามีลูกเลยเสียดีกว่า

นอกเรื่องมาเสียยาวเลยค่ะ เอาเป็นว่า หนังสือ "Inside ผู้หญิง" นี้เหมาะกับผู้อ่านหลายกลุ่ม ผู้หญิงที่อยู่ในวัยเจริญพันธุ์ควรอ่านอย่างยิ่งและควรจะเก็บไว้เป็น reference สำหรับตอนแต่งงาน ตั้งครรภ์ คลอดลูก ด้วย  ผู้ชายก็อ่านได้นะคะ เพราะมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับผู้ชายเยอะเหมือนกัน ทั้งการมีลูกยาก การดูแลรักษาตนเอง การทำหมันชาย เป็นต้น  อีกกลุ่มหนึ่งที่น่าจะอ่านก็คือ พ่อแม่ที่กำลังมีลูกอยู่ในช่วงวัยรุ่น และวัยเจริญพันธ์ ต้องหาข้อมูลไว้คุยกับลูกบ้างนะคะ ต้องทันเหตุการณ์

คุณแม่ของดิฉันเองแทบจะไม่เคยสอนเรื่องเพศศึกษาเลย ไม่เคยพูดเลยด้วยซ้ำ พูดแต่ว่า "อย่าไปเชื่อผู้ชายนะลูก ไอ้ที่ชมว่าเราสวยๆ นั้นมันหลอกเอาทั้งนั้น" สิ่งที่แม่เคยทำสิ่งเดียวคือ ซื้อหนังสือเรื่องระบบสืบพันธุ์ของผู้หญิงให้อ่านตอนเริ่มเข้าสู่วัยรุ่น ซึ่งเป็นเวลาเดียวกันกับที่คุณแม่จับได้ว่าแอบมีแฟน  แต่แม่ไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับเรื่องพวกนี้เลย เวลาถามก็ไม่ค่อยตอบ  แต่เอาเถอะค่ะ เราจะมามัวโทษพ่อโทษแม่อย่างเดียวก็ไม่ถูก พ่อแม่ให้มีอให้เท้าให้ตาให้สมองเรามา ถ้าพ่อแม่ไม่สอน เราก็ต้องหัดเรียนรู้จากสิ่งรอบตัวเองให้ได้  ดิฉันโชคดีอย่างหนึ่งตรงที่ชอบอ่านหนังสือ และจะไม่ปิดบังพ่อแม่ด้วยว่าอ่านหนังสืออะไรอยู่  และยิ่งที่ทำงานตอนนี้ ทำเรื่องเกี่ยวกับการคุมกำเนิดและเรื่องเพศศึกษา ดิฉันยิ่งเป็นคนพูดเรื่องพวกนี้อย่างเปิดเผยเข้าไปอีก และไม่กลัวที่จะหาความรู้เรื่องพวกนี้จากแหล่งความรู้ต่างๆ เลย  อย่างเล่มนี้ อ่านจบก็เดินไปบอกแม่ตรงๆ เลยว่า "เนี่ย เพิ่งอ่านเล่มนี้จบ ตอนแรกอ่านแล้วอยากมีลูก แต่อ่านจบไม่อยากมีละ" แม่ก็อาจจะมีแอบคิดบ้างว่า เอ.. ลูกเราจะไปมีเพศสัมพันธ์กับใครหรือเปล่าหนอ หรือกำลังคิดจะมีผัวอยู่หรือเปล่าหนอ

แต่ไม่ว่าจะอย่างไรก็แล้วแต่ หนังสือเล่มนี้ดีมากค่ะ คุณหมอชัญวลี เขียนหนังสือเก่งจัง  อ่านประวัติแล้วยิ่งเคารพในความสามารถ และความเอื้ออาทรของผู้รู้ที่อยากจะช่วยผู้ไม่รู้  และที่สำคัญ การเขียนของคุณหมอนั้น ให้ความรู้สึกเป็นมิตร เป็นกลาง ไม่ตัดสิน ไม่รู้สึกผิด เข้าถึงได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมมากค่ะ  ดิฉันมีเพื่อนคนหนึ่ง ไปหาหมอสูติเพราะประจำเดือนไม่หยุด หมอก็ pap smear เลย เพื่อนก็ร้องเพราะเจ็บ หมอดันพูดว่า "เจ็บเหรอ นึกว่าเคยๆ อยู่" จะเคยหรือไม่เคยก็ไม่เกี่ยวนะคะ อย่ามาหยาบคายกับคนไข้  เจอแบบนี้แล้วอยากไปหาหมอวัญชลี  แต่หมอตรวจตั้งที่พิจิตรแน่ะ ไกลเกิน

11.15.2009

"Good Business"





เป็น ครั้งแรกนะคะ ที่จะเขียน commentary ให้หนังสือ  เคยคิดมานานแล้วว่าอยากจะทำ แต่ไม่มีเวที  เคยคิดว่าจะลองทำทาง e-mail คือ ส่ง commentary เราเกี่ยวกับหนังสือ หรือบทความต่างๆ ทาง e-mail ให้เพื่อนๆ แต่ก็ไม่เคยได้เริ่มเสียที คงเป็นเพราะนิสัยส่วนตัวที่ว่า "คิดได้แต่ไม่เคยลงมือทำ" ชีวิตที่ผ่านมาเลยไม่ประสบความสำเร็จอะไรสักอย่าง  สุดท้ายมาคุยกับลูกพี่ลูกน้องที่สนิทมากถึงการเขียน commentary ที่เราอยากทำ แต่ไม่รู้จะไปขอทำที่นิตยสารไหนดี พี่ก็เลยบอกว่า "มันเป็นสิ่งที่ทำได้เลยนิ ไม่เห็นต้องรออะไรเลย" ซึ่งก็จริง และมันก็ไม่ใช่ความจริงที่เราไม่เคยรู้เลยนะ  แต่ด้วยความที่ชีวิตของเรามีแต่รอ รอ รอ ซึ่งเจ้านายก็ว่าอยู่ทุกวี่ทุกวันว่า "อย่ารอ ถ้ามัวแต่รอก็ไม่เสร็จ"  เราก็รู้มาโดยตลอดว่านี่คือจุดอ่อนของเรา เราคิดอะไรใหม่ๆ ทุกวัน และตื่นเต้นกับสิ่งที่คิดได้เสมอ แต่ก็ไม่เคยลงมือทำอะไรจริงจังสักอย่าง  ตอนนี้ก็คิดว่าถึงเวลาแล้วล่ะค่ะ ที่จะต้องทำอะไรสักอย่างเสียที  ไหนๆ ก็ประกาศไปแล้วว่าเดือนนี้คือจุดเริ่มต้นของ Nouveau Novel November เดือนที่คนชื่อนิ่มจะเกิดใหม่ เป็นคนใหม่

ที่ ร่ายยาวมาข้างต้นนี้ เหมือนไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับหนังสือเลยนะคะ  แต่ความจริงแล้ว หนังสือ "ธุรกิจที่ดีงาม" นี่แหละค่ะ ที่ทำให้ดิฉันเริ่มกระตุ้นตนเองอย่างจริงจัง มีแรงผลักที่จะเกิดใหม่ในเดือนนี้   หนังสือเล่มนี้ของ Mihalyi Csikszentmihalyi ไม่ธรรมดาเลยนะคะ  ดิฉันเคยอ่านหนังสือประเภทสร้าง leadership skills มาไม่น้อย แต่ไม่มีเล่มไหนเหมือนเล่มนี้เลย ไม่เคยเจอเล่มไหนที่สร้างผลกระทบทางจิตใจได้มากขนาดนี้มาก่อนเลยจริงๆ และนี่คือที่มาของการสร้าง blog ใหม่นี้ และการเริ่มต้นบันทึกเรื่องราวต่างๆ


"ธุรกิจ ที่ดีงาม" หรือ "Good Business" จากสำนักพิมพ์สวนเงินมีมา โดย Mihalyi Csikszentmihalyi ซึ่งเมื่อสืบค้นดู จะเห็นว่ามีหนังสือตีพิมพ์มาหลายเล่มแล้ว  ที่เด่นๆ น่าจะเป็น "Flow" ซึ่งยังไม่มีใครแปลเป็นภาษาไทย เพราะฉะนั้นคงไม่แปลกหรอกค่ะ ที่นักอ่านชาวไทยไม่ค่อยรู้จักมากนัก แต่หากเป็นคนที่อยู่ในวงการ leadership training หรืออะไรทำนองนี้น่าจะรู้จักดีอย่างแน่นอน  Csikszentmihalyi ปัจจุบันเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยในเมืองชิคาโก ดูจากหนังสือแล้วท่าทางจะเป็นผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยคุณลักษณะของผู้นำเก่งๆ โดยเฉพาะในสาขาธุรกิจ  แปลโดย เจริญเกียรติ ธนสุขถาวร และ วิไล ตระกูลสิน ซึ่งขอบอกตามตรงว่า โดยส่วนตัวไม่ชอบหนังสือแปล เพราะภาษาไทยจะออกมาแปลกๆ ตามสำนวนและไวยากรณ์ต่างชาติ  และจริงๆ แล้ว เล่มนี้ก็ถือว่าเป็นภาษาไทยที่มีสำนวนต่างชาติเยอะมาก อ่านไปนึกว่าอ่านภาษาอังกฤษ แต่อ่านไม่ยากเลยค่ะ และขอชื่นชมผู้แปลด้วย

Csikszentmihalyi พยายามสร้างความเชื่อใหม่ ที่ว่าธุรกิจหรือชีวิตการทำงานนั้นเข้ามาแทนที่วิถีทางการหาความสุขที่แท้ จริงของมวลมนุษย์ไปเสียแล้ว  จากสมัยก่อนที่สังคมมนุษย์ยังเป็นเพียงสังคมเกษตรกรรม การปลูกพืช การล่าสัตว์ เป็นการทำงานที่ทำให้ตนเองและเผ่าของตนเองอยู่รอด  แต่มนุษย์ได้สร้างความเชื่อทางจิตวิญญาณ หรือศาสนา ขึ้นมาเพื่อเป็นการสร้างความสุขให้กับชีวิตและสังคมของตนเอง  อย่างไรก็ตาม สังคมปัจจุบันไม่ได้เป็นเช่นนั้นอีกต่อไป ตอนนี้เรามีเครื่องจักรเข้ามาแทนที่ เป็นสังคมอุตสาหกรรม คนเราไม่จำเป็นต้องทำงานเพื่อการอยู่รอดเพียงอย่างเดียวต่อไปอีกแล้ว แต่หากทำงานเพื่อสนองความสุข ความทะเยอทยาน หรือความต้องการอะไรบางอย่าง  และเนื่องจากสังคมอุตสาหกรรมสร้างอาชีพ และโอกาสการการหาเงินหาทองใหม่ๆ มากมาย คนสามารถเลือกงานที่สร้างความสุขให้กับตนเองได้ในระดับหนึ่ง  ในขณะเดียวกัน วิถีชีวิตคนเราก็พึ่งพาความชื่อทางจิตวิญญาณลดลง ห่างเหินศาสนา ซึ่งถ้าเราปฏิเสธก็ถือว่าเราโกหกตัวเองแล้วล่ะค่ะ   Csikszentmihalyi บอกว่าที่ ห่างเหินศาสนากันมากขึ้นก็เพราะศาสนาไม่สามารถตอบสนองการสร้างความสุขให้กับ คนในวิถีปัจจุบันได้อีกแล้ว  ซึ่งอาจจะจริงนะคะ เพราะศาสนาบางศาสนามีกฏระเบียบการใช้ชีวิตที่เข้มงวดเหลือเกิน และหากไม่มีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้ทันยุคทันสมัย อีกไม่นานก็คงเป็นเพียงสิ่งที่เราเรียนกันในห้องเรียนเท่านั้น ไม่มีการปฏิบัติจริงอีกต่อไป  แม้แต่ศาสนาพุทธก็เหมือนกันค่ะ ยังต้องมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการนำเสนอธรรมะกันยกใหญ่ เพื่อให้สามารถเข้าถึงคนหมู่มากได้เหมือนเมื่อก่อน


อย่างไรก็ดี ไม่ว่าศาสนาจะพยายามปรับตัวปรับแนวคิดให้เท่าทันวิถีชีวิตในสังคมอุตสาหกรรม หรือไม่ คนเราก็ยังคงยึดติดกับอาชีพการงานเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความสุขในชีวิต  ความสุขในที่นี้ของแต่ละคนจะไม่เหมือนกันนะคะ แต่ไม่ว่าจะหมายถึงสิ่งใด ความสุขนี้จะเกิดจากการที่เราประสบความสำเร็จอย่างใดอย่างหนึ่ง ขึ้นอยู่กับเป้าหมายค่ะ  เช่น บางคนมีเป้าหมายว่าจะต้องหาเงินให้ได้ 1 ล้านบาทก่อนอายุ 25 ซึ่งถ้าทำได้ก็จะเกิดความสุขอย่างล้นเหลือ  บางคนตั้งใจว่าธุรกิจที่ตนเป็นเจ้าของอยู่จะต้องออกผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่งที่ จะกลายเป็นที่นิยมสุดๆ เช่นเดียวกันค่ะ ถ้าทำได้ก็จะมีความสุข  แต่ความสุขที่แท้จริงในความหมายของ Csikszentmihalyi คือความปิติเบิกบาน คือการที่ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่าแก่ตนเองและสังคม ช่วยให้ผู้คนรอบข้างเป็นคนดี มีแรงบันดาลใจในการสร้างความดีงามให้กับตนเองและสังคม  ซึ่งนี่ถือเป็นหน้าที่หลักของศาสนาค่ะ

ดัง นั้น ในเมื่อคนเราหันหน้าเข้าการทำงานเพื่อหาความสุขกันมากขึ้น ตัวงานที่ทำและองค์กรที่เราอยู่นั้นจะมีบทบาทคล้ายกับศาสนาไป คือ จะต้องทำให้เรามีความสุขที่แท้จริง คือความปิติเบิกบาน ไม่ใช่แค่ความสุขชั่วครั้งชั่วคราวที่เกิดขึ้นจากการหลีกหนีความเบื่อหน่าย และความเครียด หรือแค่ความสุขสั้นๆ จากการตั้งเป้าหมายที่ไม่ได้ก่อให้เกิดคุณค่าใดๆ แก่คนรอบข้างหรือสังคมที่แท้จริง เช่น ความสุขที่เกิดจากการหาเงิน 1 ล้านบาทได้ก่อนอายุ 25  ความเบิกบานในความหมายของ Csikszentmihalyi คือความสุขที่เกิดขึ้นจากการทำสิ่งที่ทำอยู่ จากการทำงานที่เราทำอยู่ การใช้ชีวิต  ซึ่งแม้จะพบปัญหาใดๆ ก็ไม่เกิดความทุกข์ เพราะมีความสุขที่ได้แก้ปัญหาให้กับสิ่งที่ตนทำอยู่  ในที่นี้ Csikszentmihalyi เรียกสภาวะนี้ว่า "สภาวะไหลลื่น" หรือ "flow"  ส่วน ความสุขที่เกิดจากการหลีกหนีความเบื่อหน่ายและความเครียด ยกตัวอย่างเช่น เวลาเราเบื่อ เราก็ดูทีวี ไปปาร์ตี้กับเพื่อนๆ แตเมื่อทีวีจบ ปาร์ตี้เสร็จสิ้น เราก็กลับมาเบื่อเหมือนเดิม  เมื่อมีปัญหาก็จะพยายามหลีกหนีด้วยการไปท่องเที่ยวบ้าง ไปดูหนังบ้าง แต่สุดท้ายก็ต้องกลับมาแก้ปัญหานั้นอยู่ดี ไม่ได้มีความสุขที่แท้จริง

เมื่อ องค์กรต้องทำหน้าที่คล้ายกับศาสนาแล้ว ผู้นำองค์กรก็เปรียบเสมือนกับผู้นำทางศาสนา ที่จะเผยแพร่ความเชื่อต่างๆ วิถีแนวทางการปฏิบัติต่างๆ แก่ผู้ตาม ซึ่งก็คือพนักงานในองค์กร  ความเชื่อและวิถีแนวทางอาจเปรียบได้กับ vision, mission และ goal ขององค์กร เหมือนดังที่พระในศาสนาพุทธเทศน์แก่ญาติโยมทั้งหลาย  นอกจากนี้ ผู้นำจะต้องเป็นตัวอย่างทีดี สามารถปฏิบัติตามความเชื่อนั้นๆ ได้จริง สามารถสร้างแรงบันดาลใจให้แก่ผู้ตามได้อยู่เสมอ สร้างแรงผลักแรงกระตุ้นเพื่อให้ผู้ตามเกิดการพัฒนาตนเองไปในทางที่จะช่วยให้ องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ หรืออีกนัยหนึ่งคือ ผู้นำและองค์กรจะต้องสร้างสภาวะไหลลื่นให้กับพนักงานให้ได้ เพราะสภาวะไหลลื่นจะเป็นการกรุยทางไปสู่ความปิติเบิกบานนั่นเอง  หากมีเพียงผู้นำคนเดียวที่อยู่ในสภาวะไหลลื่น หรือมีความปิติเบิกบาน แต่พนักงานยังมีแต่ความเบื่อหน่าย ความเครียด ไม่มีแรงบันดาลใจ องค์กรนั้นจะไปไม่ถึงไหน

ในหนังสือ Csikszentmihalyi กล่าวว่า สภาวะไหลลื่นที่ผู้นำและองค์กรสามารถสร้างให้กับพนักงานแต่ละคนได้มีองค์ วิธีที่ต้องปฏิบัติอยู่ เช่น การควบคุม การให้ข้อมูลย้อนกลับ การสื่อสาร เป็นต้น  แต่ไม่ว่าจะเน้นที่วิธีใดก็แล้วแต่ สิ่งสำคัญที่ผู้นำควรจะเข้าใจคือ พนักงานแต่ละคนจะไม่สามารถเกิดสภาวะไหลลื่นได้เลยหากเบื่อหน่ายและเครียด  ความเบื่อหน่ายเกิดจากการที่พนักงานคนนั้นมีทักษะที่มากขึ้น แต่ได้ทำงานที่ไม่ได้ใช้ทักษะหรือประสบการณ์ใหม่ๆ เลย งานไม่มีความท้าทายใหม่ๆ  ส่วนความเครียดเกิดจากการที่พนักงานไม่มีทักษะเพียงพอที่จะทำงานใดงานหนึ่ง หรืองานยากเกินไป  องค์กรที่ดีจะต้องสร้างงานที่ให้เกิดความสมดุลระหว่างทักษะและงาน พนักงานแต่ละคนจะต้องมีการพัฒนาความสามารถขึ้นไปเรื่อยๆ จึงจะเกิดความภูมิใจและความสุข แต่สิ่งนี้มันมากกว่าแค่การเลื่อนขั้นหรือการขึ้นเงินเดือน  แต่พนักงานคนนั้นจะต้องเกิดความสุขที่แท้จริง ที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของความสำเร็จขององค์กร และมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างความสำเร็จให้มากยิ่งๆ ขึ้นไป

ตัว ผู้นำเองก็จะต้องผานกระบวนการนี้ก่อนเช่นกัน ต้องเคยเกิความเบื่อหน่าย จึงต้องพยายามหาสิ่งใหม่ๆ เพื่อท้าทายความสามารถของตนเองอยู่เสมอ ต้องเคยเกิดความเครียด จึงต้องพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา  และผู้นำที่ดี จะต้องสามารถทำให้ลูกน้องตนเองเข้าสู่กระบวนการนี้ให้ได้ เพื่อจะค้นพบสภาวะไหลลื่นที่แท้จริง

หาก สังเกตุดูจะเห็นว่า ที่เขียนมาข้างต้นนี้ ไม่ได้กล่าวถึงกิจกรรมที่องค์กรนั้นทำอยู่เลย  แต่กล่าวกลางๆ เพียงแค่ว่าองค์กรมีวิสัยทัศน์อย่างไร หรือเป้าหมายอะไรก็ควรจะสื่อสารให้พนักงานเข้าใจ และช่วยให้พนักงานเกิดสภาวะไหลลื่นจนทำงานได้ตามวิสัยทัศน์และเป้าหมายเท่า นั้นเอง  จึงเกิดมีคำถามที่ว่า "กิจกรรมขององค์กรมีส่วนมากน้อยเพียงใดในการสร้างคนให้เป็นคนดีเหมือนที่ ศาสนาควรจะทำ"  Csikszentmihalyi ไม่ได้ให้คำตอบตรงๆ ในประเด็นนี้ แต่สิ่งที่เขาเสนอคือ กิจกรรมที่องค์กรใดๆ ทำควรจะสร้างคุณค่าบางอย่างหรือหลายอย่างอย่างสุดซึ้งให้กับสังคม  เช่น กิจกรรมขององค์กรคือธุรกิจขายเสื้อผ้า แต่จะใช้เพียงวัสดุที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเท่านั้น หรือมีกระบวนการผลิตที่ไม่อันตรายต่อพนักงานในโรงงาน  ซึ่งประเด็นเหล่านี้จะต้องได้รับการสื่อสารสู่พนักงานทุกคน และพนักงานทุกคนจะต้องเชื่อในการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม มีวิถีชีวิตที่ไม่สร้างมลภาวะแก่ชุมชน และมีความสุขกับการที่ได้เป็นหนึ่งในผู้ดูแลสิ่งแวดล้อม เป็นต้น

การ สร้างกิจกรรมที่จะต้องสร้างคุณค่าต่อสังคมมาจากวิสัยทัศน์ของผู้นำ ตัวอย่างข้างต้นบอกอยู่แล้วว่า ไม่ว่าองค์กรจะดำเนินกิจกรรมประเภทใด ความดีงามขององค์กรนั้นจะเกิดจากวิสัยทัศน์ของผู้นำและการสร้างค่านิยมและ แนวปฏิบัติที่ถูกต้องมากกว่า   หลาย คนอาจจะมองว่าองค์กรแบบนี้ก็คือพวกองค์กรสาธารณะประโยชน์ หรือพวก NGO  ทว่าหากผู้นำ NGO หรือมูลนิธิหนึ่งเป็นคนคดโกง อมเงินชาวบ้าน ลำเอียง ทำให้องค์กรไม่ได้บรรลุเป้าหมายที่แท้จริงคือ ช่วยเหลือสังคม  องค์กรนั้นก็ไม่ได้สร้างคุณค่าใดๆ แก่สังคมเลย และก็ไม่ได้สร้างคนในองค์กรให้เป็นคนดีด้วยเช่นกัน  วิสัยทัศน์ของผู้นำจะต้องเกิดจากจิตวิญญาณที่ดีงาม ซึ่งอาจเป็นไปตามความเชื่อทางศาสนา ทางกฏหมาย ฯลฯ แต่ทั้งหมดนี้ จะต้องประกอบกันเข้าเป็นวิสัยทัศน์ของผู้นำที่ต้องการจะสร้างคุณค่าอะไร บางอย่างให้กับตนเอง คนรอบข้าง และสังคม  นี่เป็นคำตอบสำหรับคำถามที่ดิฉันมีที่ว่า "แล้วองค์กรที่ทำกิจกรรมที่ผิดกฏหมาย แต่มีผู้นำที่แข็งแกร่ง หรือ ผู้หญิงที่ประกอบอาชีพโสเภณี จะสามารถสร้างสภาวะไหลลื่นได้หรือไม่"  หากพิจารณาจากสิ่งที่ Csikszentmihalyi อธิบายมาก็คงตอบว่าได้ หากผู้นำคนนั้น พนักงานในองค์กรนั้น หรือหญิงโสเภณีคนนั้น เชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำได้สร้างคุณค่าที่ดีงามแก่เพื่อนมนุษย์ และไม่ขัดต่อความเชื่อทางจิตวิญญาณที่ตนเองมีอยู่  ความจริงแล้ว หญิงโสเภณีคนนั้นอาจเชื่อว่าอาชีพของตนเองได้สร้างคุณค่าบางอย่างแก่เพื่อน มนุษย์ และเริ่มพยายามที่จะทำให้อาชีพของเธอมีคุณค่าโดยการทำให้ผู้มาใช้บริการเกิด ความสุขอย่างแท้จริง และดำเนินชีวิตของตนเองต่อไปได้อย่างปกติสุข ไม่ว่าจะโดยวิธีทางกาย หรือเพียงแค่การพูดคุยเป็นเพื่อน หญิงโสเภณีคนนั้นก็อาจจะค้นพบสภาวะไหลลื่นของตนเองก็ได้

ประเด็นหนึ่งที่อยากพูดก็คือ Csikszentmihalyi ดูเหมือนลังเลที่จะใช้คำว่าศาสนาโดยตรง แต่มักจะใช้คำว่าความเชื่อทางจิตวิญญาณมากกว่า และดูเหมือนไม่กล้าที่จะเปรียบเทียบว่าผู้นำในองค์กรเหมือนผู้นำทางจิต วิญญาณ หรือแม้แต่เปรียบความปิติเบิกบานกับการเห็นแจ้ง ซึ่งเป็นศัพท์ทางศาสนา


สองจุดในหนังสือที่ดิฉันชอบมากเป็นพิเศษ คือ ตอนที่ Csikszentmihalyi เขียนถึงความเชื่อเก่าๆ ที่ไม่ควรนำมาตีความในยุคปัจจุบันได้อีกแล้ว และ ตอนที่ Csikszentmihalyi ยกคำพูดของผู้นำคนหนึ่งเกี่ยวกับการรู้จักตนเอง

ความ เชื่อเก่าที่ว่านี้คือ "ความรู้มีรากขมแต่ผลหวาน" หมายถึงการศึกษานั้นยากลำบากมาก แต่หากตั้งใจจริงแล้วจะให้ผลที่แสนคุ้มค่าทีเดียว  ซึ่งประเด็นนี้ Csikszentmihalyi บอกว่าเราไม่ควรเชื่ออย่างนั้นอีกแล้ว เขาบอกว่าจริงๆ แล้ว การศึกษาเป็นสิ่งดี การเรียนรู้เป็นสิ่งที่ควรทำ และควรเป็นกระบวนการที่แสนสนุก  แต่คนเราต่างหากที่ทำให้การเรียนรู้มีแต่ความขมขื่นยากลำบาก ซึ่งก็คือวิธีการสอนและระบบการศึกษาที่สร้างแต่การแข่งขันนั่นเอง การศึกษาจึงเป็นเหมือนการแข่งขัน ที่มีแต่ความเครียดและความกดดัน  คนที่ได้ที่หนึ่งเท่านั้นคือคนที่ได้ชิมผลอันหอมหวาน  ดิฉันคิดว่าความคิดนี้ยังมีอยู่อีกเยอะค่ะ และถึงเวลาแล้วที่เราควรเปลี่ยนให้การเรียนรู้เป็นสิ่งสนุก และการศึกษาคือความสุขของคนทุกคน

อีก ประเด็นที่ชอบก็คือ คำพูดของ Christine Comaford Lynch ซึ่งได้พูดถึงการรู้จักตนเองในหน้า 202 สิ่งที่เธอพูดทำเอาดิฉันถึงกับร้องไห้อย่างเอาเป็นเอาตาย ถึงกับต้องเขียน e-mail หาผู้รู้เป็นเรื่องเป็นราว  และเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญที่ทำให้ดิฉันคิดว่าชีวิตมาถึงจุดเปลี่ยนแล้ว และจะต้องทำในวันนี้ด้วย เป็นจุดเริ่มต้นของการทำทุกอย่างที่กล่าวไว้ในข้างต้นเลยทีเดียว  

แนะ นำให้ทุกคนอ่านค่ะ เป็นหนังสือที่สร้างแรงบันดาลใจให้อย่างยิ่งยวด จนตอนนี้อยากจะลองอ่าน "Flow" ด้วยแล้ว แม้จะยังไม่มีใครแปลก็เถอะ  หนังสือภาษาอังกฤษทั้งสองเล่มนี้ไม่มีขายในเมืองไทยนะคะ ต้องสั่งจากต่างประเทศเท่านั้น ดิฉันซื้อฉบับภาษาไทยแจกเพื่อนหลายคนแล้ว และอยากแจกเพื่อนต่างชาติบ้าง แต่เพื่อนต่างชาติต้องรอไปก่อน


คุณคิดว่าผู้นำและ องค์กรของคุณตอนนี้ได้สร้างสภาวะไหลลื่นให้กับคุณได้มากน้อยแค่ไหน สร้างความสุขที่แท้จริง ความปิติเบิกบานได้หรือไม่  สิ่งที่คุณทำในชีวิตประจำวันได้สร้างคุณค่าและมีความหมายที่ดีงามต่อตนเอง คนรอบข้าง และคนในสังคมได้หรือไม่  สำหรับดิฉัน ผู้นำของดิฉันได้เข้าสู่ความปิติเบิกบานแล้ว และท่านพยายามสร้างแรงบันดาลใจในการทำความดีให้คนรอบข้างเสมอ แต่ตัวองค์กรเองยังไม่มีกระบวนการที่จะสร้างสภาวะไหลลื่นให้กับคนในองค์กร ได้เลยค่ะ ซึ่งน่าเสียดายเหลือเกิน