3.27.2010

"นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา"



ก้อง คาร์ ไว.  นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา.  กรุงเทพฯ : อะบุ๊ก, 2548.


เปลี่ยนบรรยากาศมาอ่านหนังสือเบาๆ บ้างดีกว่า หลังจากที่บ้าบอคอแตกอ่านแต่หนังสือพัฒนาทักษะการเป็นมนุษย์เงินเดือนมาหลายเล่มอยู่  จริงๆ อยากอ่านนิยายมากกว่า แต่ไม่มีในสต๊อก นึกว่า “นายเท้าซ้ายเด็กชายเท้าขวา” เป็นนิยาย และถ้าเป็นนิยายของทรงกลด บางยี่ขัน อาจจะออกแนวๆ และต้องมีเสียน้ำตาแน่นอน แต่ที่ไหนได้ มันเป็นการรวบรวมความเรียงที่เขาเขียนโดยใช้นามปากกา ก้อง คาร์ ไว ที่ตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์เป็นรายสัปดาห์

ตอนที่เริ่มอ่านตรงคำนำ ไปจนถึงหน้าแรกๆ ยังรู้สึกเลยว่า “จะอ่านเล่มนี้จริงๆ เหรอวะ จะอ่านรู้เรื่องเหรอ อยากอ่านนิยายประโลมโลกมากกว่า” แต่สุดท้ายก็กัดฟันอ่านจนจบเรื่องที่หนึ่ง ต่อไปจนเรื่องที่สอง สาม สี่ ... สุดท้ายก็วางไม่ลง ชอบมากขนาดที่ว่าเอาใส่ไว้ในเสื้อตลอดเวลาได้เลย

ดิฉันยังจำคนที่ยุให้ซื้อหนังสือเล่มนี้ตอนงานมหกรรมหนังสือเมื่อปีที่แล้วได้เลย คงเป็นคนที่ทำงานในสำนักพิมพ์อะบุ๊ก พี่แกเป็นพวกติ๊สๆ แนวๆ ตอนยุให้เราซื้อ พูดกับเราแบบไม่มองหน้าด้วย แบบหยิ่งๆ เหมือนกับว่า “ขนาดคนเท่ห์ๆ อย่างข้ายังบอกว่าสนุก ถ้าเอ็งอยากเท่ห์ก็ต้องอ่านเล่มนี้แหละ”  แต่ที่ซื้อนี่ไม่ได้อยากเท่ห์แบบพี่แกนะ เรามีสไตล์ของเราอยู่แล้ว แต่จำไม่ได้เหมือนกันว่าซื้อมาทำไม

อ่านคำโปรยบนปกหนังสือ “รวมงานเขียนโรแมนติกที่สุดของทรงกลด บางยี่ขัน... รวมความเรียงหวานแบบเหงาๆ เศร้าแบบอุ่นๆ ระลอกแรก” แล้วแอบขนลุกนิดๆ คิดไปก่อนเลยว่าต้องเป็นงานแบบโคตรคูลตามแบบหนุ่มขบถรุ่นใหม่ที่ช่างคิด ช่างสังเกต ช่างถาม และช่างประชดประชันแหงๆ  แต่ที่ไหนได้ ดันเป็นเรื่องกุ๊กกิ๊กในใจของผู้ชายคนหนึ่ง  ไม่เห็นด้วยเลยที่จะบอกว่ามันเป็นเรื่องเศร้า เหงา น่าจะเปลี่ยนเป็น “รวมความเรียงหวานๆ แบบหนุ่มโสด สดชื่นแบบอบอุ่น ระลอกแลก”  แต่เห็นด้วยที่โรแมนติก

แต่ละคนคงมีนิยาม “โรแมนติก” ต่างกัน สำหรับดิฉัน ความโรแมนติกคือ การที่เราทำให้ช่วงเวลาหนึ่งเป็นช่วงเวลาที่น่าจดจำ เป็นความประทับใจ เป็นความสุขตลอดไป  ไม่จำเป็นต้องเป็นช่วงเวลาของเฉพาะคู่รักเท่านั้น แต่ทุกช่วงเวลาแห่งชีวิต กับเพื่อน กับพ่อแม่ พี่น้อง สัตว์เลี้ยง แม้แต่เวลาที่เราอยู่คนเดียว เราก็สามารถโรแมนติกได้ มันไม่ใช่ความช่างฝัน แต่มันเป็นความช่างคิดที่จะทำให้ช่วงเวลานั้นมีแต่ความสุข เต็มไปด้วยแรงบันดาลใจแก่ตนเองและคนรอบข้าง

ความเรียงของก้อง คาร์ ไว คือตัวอย่างของความโรแมนติก แม้แต่น้ำฝนหยดเดียวก็ยังทำให้คิดถึงความสุข ความทรงจำที่ดีในเยาว์วัยได้ แถมยังเป็นความสุขที่เมื่อได้บอกเล่าแล้ว ยังทำให้คนอื่นมีความสุขได้อีก  หรือแม้แต่แค่อยากจะลองส่งโทรเลขดูสักครั้งในชีวิต คนที่ไม่โรแมนติก คงไม่สามารถมานั่งเล่าเรื่องได้เป็นวรรคเป็นเวรขนาดนี้หรอก

พอเขียนมาถึงตรงนี้ ดิฉันว่าอาจจะแบ่งคนได้เป็น 3 กลุ่มหลัก กลุ่มแรกคือ คนที่ไม่มีความโรแมนติกเลย คือเห็นอะไรก็ไม่เคยเกิดความประทับใจ ไม่สามารถสร้างความสุข ความอิ่มเอม หรือสร้างแรงบันดาลใจใดๆ แก่ตนเองหรือคนรอบข้างได้เลย  ถ้าได้พูดคุยสนทนากับคนพวกนี้ คงไม่ได้อะไรที่มีคุณค่า ดีไม่ดีอาจจะได้ความมองโลกในแง่ร้ายเพิ่มมาอีก  กลุ่มคนที่สองคือ คนที่มีความโรแมนติก แต่ไม่สามารถสื่อสารออกมาได้  จะโรแมนติกมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับแต่ละคนว่าตอนนั้นอารมณ์ดีหรืออารมณ์เสียอยู่  แต่ก็ยังสามารถรู้สึกถึงความสุข ความประทับใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือ ณ ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งได้  ส่วนคนกลุ่มสุดท้าย ก็คือคนอย่างก้อง คาร์ ไวนี่แหละ คือคนที่มีความโรแมนติก และยังสามารถถ่ายทอดความสุข ความประทับใจให้กับคนรอบข้างได้อีกด้วย

คุณคิดว่าในสังคมเราจะมีคนแต่ละกลุ่มร้อยละเท่าไร น่ามีทีมวิจัยลองสำรวจเรื่องพวกนี้ดูนะคะ ดิฉันคิดว่าน่าจะมีคนกลุ่มที่สองเยอะมากที่สุด เพราะดูแล้วคือน่าจะเป็นคนธรรมดา มีสุขบ้างเศร้าบ้าง ปะปนกันไป เล่าบ้างไม่เล่าบ้าง แล้วแต่อารมณ์ ถ้าเลือกที่จะเล่า ก็เล่ารู้เรื่องบ้างไม่รู้เรื่องบ้าง คนฟังๆ แล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ใส่ใจ  แต่ถ้าเป็นคนประเภทที่สาม ที่สามารถถ่ายทอดความรู้สึกและความประทับใจทั้งหลายแหล่ได้ออกมาเป็นเรื่องเป็นราว สัมผัสได้ รับรู้ได้ หล่อหลอมเข้าไปในจิตใจตนเองได้ น่าจะมีไม่เยอะเท่าไหร่ อาจจะน้อยกว่าคนกลุ่มที่หนึ่งด้วยซ้ำ

แต่ดิฉันคิดว่ามีคนให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากนะคะ คือเรื่องศิลปการสื่อสาร การพูด การเขียน มันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ไม่เช่นนั้นเราคงไม่มีโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยที่สอนเรื่องพวกนี้อย่างจริงจัง มีหนังสือแบบฝึกหัดเป็นร้อยเป็นล้านอย่างนี้หรอก  ดิฉันเชื่อว่ามันเป็นทั้งเรื่องพรสวรรค์และพรแสวง ต้องฝึกฝนด้วย คนบางคนอาจจะเคยพูดเรื่องเดียวอยู่เป็นปี กว่าจะเข้าที่ ฟังแล้วเป็นเรื่องเป็นราว  หรืออย่างก้อง คาร์ ไวนี้ ดิฉันสันนิษฐานเอาเองว่า เขาก็ต้องฝึกฝนการเขียนมาบ้าง อาจจะอาศัยการอ่านเยอะๆ ฟังเยอะๆ หรือเขียนเยอะๆ ถึงจะมีวันนี้ได้

คำถามก็คือว่า แล้วคนที่สื่อสารเก่ง พูดเมื่อไรคนเคลิ้มเมื่อนั้น จำเป็นต้องเป็นคนโรแมนติกด้วยหรือเปล่า พระสงฆ์ที่เทศน์จนมีลูกศิษย์ตามไปฟังทุกหนทุกแห่ง ถือว่าท่านโรแมนติกไหม  อาจจะไม่จำเป็น แต่ดิฉันเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การที่เราสามารถทำให้คนอื่นเกิดความรู้สึกเช่นเดียวกับเรา หรือได้รับแรงบันดาลใจอย่างใดอย่างหนึ่งหลังจากได้รับฟังหรือได้อ่านสิ่งที่เราต้องการสื่อสารออกไป สิ่งแรก ซึ่งสำคัญที่สุดคือ เราต้องเชื่อในสิ่งที่เราสื่อสารอย่างหมดหัวใจ ไม่เช่นนั้นคนอื่นจะไม่สามารถสัมผัสถึงความจริงใจที่ออกมาทางแววตา น้ำเสียง รอยยิ้ม น้ำตา ฯลฯ เราได้ คงมีแต่ดาราระดับออสการ์ละมั้งที่น่าจะทำได้ แต่พวกเขาต้องฝึกฝนผ่านร้อนผ่านหนาวกันมากี่ปี

ดิฉันจัดทรงกลด บางยี่ขันอยู่ในกลุ่มนักเขียนรุ่นใหม่ ในกลุ่มเดียวกับ วงศ์ทนง ชัยณรงค์สิงห์ ทรงศีล ทิวสมบุญ วรพจน์ พันธ์พงศ์ ฯลฯ ที่พยายามจะลบภาพเดิมๆ ของการวิธีการเขียนหนังสือของเมืองไทย ซึ่งรวมไปถึงเนื้อเรื่องที่นำมาเขียน ประเด็นต่างๆ การค้นคว้าข้อมูล และการแสดงข้อมูลในวิธีการใหม่ๆ ปรากฏว่า นักเขียนเหล่านี้ส่วนใหญ่มาจากค่ายเดียวกัน  (ว้ายยย ดิฉันเชยตลอดเลยเนอะ)

แต่พูดจริงๆ เลยนะ บางทีดิฉันไม่ค่อยกล้าอ่านผลงานการเขียนของบุคคลเหล่านี้หรอก พวกเขาเป็นคนมีชื่อเสียงมาก ผลงานของพวกเขาใครๆ ก็อยากอ่านอยากชื่นชม  เป็นปรากฏการณ์เหมือนที่วินทร์ เลียววาริณเคยสร้างไว้เมื่อสิบกว่าปีก่อน  ถึงแม้ผลงานของพวกเขาจะออกมาเพื่อปลดแอกการเขียน การใช้ภาษา และการรับรู้ข้อมูลของชีวิตรอบๆ ตัวให้กับคนรุ่นใหม่ แต่ดิฉันกลับกลัวที่จะต้องตกเป็นทาสทางความคิดของพวกเขา เหมือนกับคนหลายๆ คนที่แห่กันอ่านผลงานเหล่านี้  ดิฉันกลัวที่จะถูกกลืนกินไปกับวัฒนธรรมใหม่ที่กลายเป็น mainstream ไปแล้วนั้น จนไม่เหลือความเป็นตัวของตัวเอง เหมือนกับที่ดิฉันปฏิเสธที่จะอ่าน Harry Potter เพราะไม่ต้องการที่จะเป็นผลพวงของวัฒนธรรม commercial pop culture ข้ามชาตินี้

No comments:

Post a Comment