2.27.2010

"รอยประทับ"


นฤมล เทพไชย.  รอยประทับ.  กรุงเทพฯ : ผีเสื้อ, 2531.


ได้หนังสือ รอยประทับโดยนฤมล เทพไชย สำนักพิมพ์ผีเสื้อ จากร้านหนังสือเล็กๆ ในเมืองลำปลายมาศ จ. บุรีรัมย์ ด้วยความซุกซนของสายตาแท้ๆ เชียว  ตั้งใจแค่จะไปซื้อนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ แต่ก็ยังมิวาย กวาดสายตาไปทั่วๆ แผงหนังสือว่ามีอะไรน่าสนใจบ้าง  ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะไม่ซื้อหนังสือใดๆ เลย เพราะงานสัปดาห์หนังสือจะมาอีกไม่ช้าแล้ว แต่หน้าปกหนังสือ รอยประทับ อันสวยสดงดงามกลับทำให้ต้องเปลี่ยนใจจนได้ 

แต่เรื่องตลกก็คือ หลังจากที่ดิฉันอ่านหนังสือเล่มนี้จบ จึงเข้าไปยัง website ของ สำนักพิมพ์ผีเสื้อ พบข้อความที่บอกว่า หนังสือ รอยประทับ ฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 (ที่ดิฉันถืออยู่ในมือ) พิมพ์จากไฟล์ที่ผิดพลาด สำนักพิมพ์เรียกคืนหนังสือฉบับพิมพ์ครั้งที่ 2 ไปทำลาย และจะส่งเล่มใหม่ที่ตีพิมพ์อย่างถูกต้องมาให้โดยเร็ว  ข้อความนี้เขาแจ้งตั้งแต่เดือนตุลาคม ปีที่แล้ว  แล้วจะเป็นอย่างไรล่ะนี่ ถ้าดิฉันได้เล่มใหม่มา ก็ต้องมาอ่านใหม่เหรอ หวังว่าที่มีข้อผิดพลาดนี่คงไม่ใช่เนื้อเรื่องผิดนะ ไม่ใช่แบบพระเอกไม่ใช่คนนี้ คนเขียนเขาเขียนผิด จริงๆ คนนั้นเป็นโจร ส่วนนางเอกตาย อะไรแบบนี้อ่ะ ไม่เอานะ

ไม่ได้เห็นหนังสือจากสำนักพิมพ์ผีเสื้อมานานแล้ว หรืออาจเป็นเพราะดิฉันมัวแต่ไปตื่นเต้นกับหนังสือหน้าปกเก๋ๆ ดีไซน์สวยๆ ชื่อเรื่องเท่ห์ๆ จากสำนักพิมพ์วัยรุ่นติ๊สๆ ก็เป็นได้ จึงทำให้มองข้ามและลืมเลือนหนังสือสุดคาสสิกของสำนักพิมพ์ผีเสื้อ ทั้งๆ ที่ตอนเด็กๆ อ่านหนังสือของสำนักพิมพ์ผีเสื้อเยอะมาก ตอนนั้นเป็นช่วงร้านหนังสือดวงกมลสมัยกำลังรุ่งเรืองเลย

บอกตามตรงว่าเลือกหนังสือ รอยประทับเพราะชอบหน้าปก รูปเล่ม และการหีบห่อ คำโปรยที่บอกว่า เป็น นวนิยายอิงประวัติศาสตร์ ... จากแดนอินเดียแดงสู่สยาม ... จากความทรงจำของแมรี่ เลาเกอสัน มีส่วนในการตัดสินใจเสียเงินแบบปัจจุบันทันด่วนเล็กน้อย นึกว่าชาวอินเดียแดงมาเที่ยวสยาม แต่แมรี่ เลาเกอสันนี่ใครก็ไม่รู้จัก ความจำเธอดีแค่ไหนก็ไม่รู้ เลอะเลือนหรือเปล่า หรือมาสร้างเรื่องนวนิยายหลอกคนไทย หลอกฝรั่งแบบ Anna and the King of Siam

แต่ความจริง ดิฉันไม่มีความคิดเหล่านี้ตอนที่อ่านหรอกค่ะ เพราะความที่เขียนออกมาในแนวนิยาย มันเหนือความจริงอยู่แล้ว มันมีแต่เรื่องที่เป็นเหตุการณ์สำคัญ สิ่งที่สร้างความประทับใจให้กับคนๆ หนึ่ง เพราะฉะนั้นจะมีแต่เรื่องดีๆ เรื่องที่อยากให้ลูกหลานและชนรุ่นหลังจดจำ

รอยประทับเป็นเรื่องชีวิตผู้หญิงชาวอเมริกันคนหนึ่ง ชื่ออัลธา เอกิ้น  เธอเกิดและเติบโตในช่วงที่คนขาวเริ่มเข้าไปตั้งถิ่นฐานวางรกรากในดิน แดนอเมริกา ที่ซึ่งชาวอินเดียแดงเป็นผู้ครอบครองอยู่ก่อนแล้ว ชีวิตในวัยเด็กของเธอ แม้จะยังไม่รู้ความ แต่ก็ต้องพบเจอกับความรุนแรงและความตายของคนในครอบครัวเสมอ บิดาของเธอหายตัวไปขณะที่เดินทางไปเจรจาซื้อที่และไม่กลับมาอีก มารดาเลี้ยงดูเธอและพี่น้องมาอย่างยากลำบาก จนแต่งงานใหม่กับชายที่ไม่มีใครรู้หัวนอนปลายเท้า แต่เขาก็เป็นพ่อและสามีที่ดี เธอมีน้องชายฝาแฝดต่างบิดา แต่ฝาแฝดทั้งสองก็ตายไปตั้งแต่ยังแบเบาะด้วยโรคระบาดคอตีบ ตัวเธอเองและพี่น้องอีกสามคนก็เกือบเอาชีวิตไม่รอด

เมื่อโตมา ชอบร้องเพลง เล่นออร์แกน ครอบครัวเธอเป็นชาวคริสเตียนที่เคร่งครัด เธอได้รับแรงบันดาลใจมากมายจากบาทหลวงที่ประจำอยู่ในเมืองที่เธออาศัยอยู่ เขาแนะนำให้เธอพยายามเรียนหนังสือให้จบ เธอพบรักกับชายหลายคน แต่ลงเอยกับคนที่มีเป้าหมายเป็นหมอสอนศาสนา หรือพวกมิสชันนารี เธอเรียนจบ แต่งงานกับเขา และไปฮันนีมูนกันที่นิคมอินเดียแดงเพื่อไปเผยแพร่ศาสนา พวกเขามีลูกน้อยหนึ่งคนแต่ก็ตายไปตั้งแต่วัยแบเบาะ ด้วยความเสียใจกันอย่างยิ่งยวด ทั้งสองตัดสินใจทิ้งอดีตอันเศร้าหมองไปยังประเทศสยาม เป็นพวกมิสชันนารีรุ่นแรกๆ ที่เข้าไปในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

หลังจากไปถึงประเทศสยามได้ไม่ถึงเดือน สามีของเธอก็เสียชีวิตด้วยไข้ป่ารุนแรง เธอไร้ที่พึ่ง แต่ก็พยายามที่จะอยู่ในสยามต่อไปให้ได้ตามประสงค์ของสามี กาลเวลาผ่านไป เธอก็พบรักใหม่ เป็นรักครั้งสุดท้าย สามีใหม่ของอัลธาคือ จอห์น เอกิ้น ซึ่งต่อมาเป็นผู้ก่อตั้งโรงเรียนกรุงเทพคริสเตียน เป็นคู่แข่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ทั้งสองได้ตั้งรกรากอยู่ในเมืองสยาม ทิ้งสิ่งดีงามและความประทับใจแด่ประเทศที่เธอคิดว่าเป็นบ้านจนวาระสุดท้ายของชีวิต

คนที่เล่าเรื่องนี้คือ แมรี่ เลาเกอสัน ซึ่งเป็นบุตรสาวจอมแก่นของอัลธา เอกิ้น แมรี่เกิดและเติบโตในสยาม ได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากมารดาและเหล่ามิสชันนารีในสยามทั้งหลาย หลังจากนั้นไปเรียนหนังสือต่อที่อเมริกาจนจบ และกลับมาทำงานกับกลุ่มมิสชันนารีในสยาม เป็นอาสาสมัครที่ปรึกษาและสอนภาษาอังกฤษที่มหาวิทยาสงขลานครินทร์ วิทยาเขตหาดใหญ่ เธอเดินทางไปมาระหว่างสยามและอเมริกา แต่ก็คิดเสมอว่าสยามคือบ้านของเธอ

ประเด็นสำคัญที่โดดเด่นในนวนิยายเรื่องนี้คือ ความรัก ความตาย และคนขาวที่เชื่อว่าความรับผิดชอบใหญ่หลวง คือนำวิทยาการและศาสนาคริสไปเผยแพร่แทนพระเจ้า ซึ่งมีผลต่อการตัดสินสังคมที่มีความเชื่อและการใช้ชีวิตต่างจากตนเอง 

สำหรับอัลธาแล้ว คนสยามงมงาย ล้าหลัง ไม่จริงจังกับเรื่องใดๆ  เธอรับไม่ได้ที่ผู้หญิงชาวสยามชอบเอ่ยยกลูกให้เธอเลี้ยง  เธอหงุดหงิดทุกครั้งที่ชายชาวสยามจบการสนทนาเรื่องคอขาดบาดตายด้วยการพูดจาติดตลกและการหัวเราะ เธอไม่ชอบที่เห็นหญิงชาวสยามเปิดเผยทรวงอกในที่สาธารณะ ชายชาวสยามใช้ผ้าขาวม้ากับทุกสิ่ง ล้างมือล้างหน้ากับน้ำในคลอง เธอเกลียดการกินอาหารด้วยมือ หรือดื่มน้ำฝนที่ไม่ได้ต้มก่อน เธอคิดเสมอว่าเธอจะต้องช่วยให้ชาวสยามเป็นชาติที่มีอารยะเฉกเช่นชาวตะวันตกอย่างเธอ 

สิ่งที่เห็นกันตลอดเรื่องคือ พวกมิสชันนารีและครูชาวตะวันตกสมัยนั้น รักและช่วยเหลือกันเสมอ พวกเขามีการบริหารจัดการที่เป็นระบบ มีการสื่อสารระหว่างกันอย่างมีประสิทธิภาพ มีการประชุม การวางแผนเรื่องบุคคล การจัดสรรงบการเงินอย่างเป็นขั้นตอน ชัดเจน  พวกเขาดูแคลนชาวต่างชาติที่ได้สร้างครอบครัวกับหญิงชาวสยาม  และคิดว่าพวกเขาเท่านั้น ที่จะช่วยให้ชาวสยามรู้จักการแพทย์สมัยใหม่ รู้จักการใช้ยา การฉีดวัคซีน การบำรุงครรภ์ การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่  และพวกเขาเท่านัน ที่จะช่วยชี้ทางสว่างให้กับชีวิตชาวสยามโดยผ่านการศึกษาแบบตะวันตก มีโรงเรียนใหญ่ อาคารกินนอนของนักเรียน การเข้าโบสถ์ สวดมนตร์และร้องเพลงแด่พระเจ้าทุกวันอาทิตย์

พวกมิสชันนารีแต่งงานกันเอง การแต่งงานกับผู้ที่เคยผ่านการแต่งงานมาแล้ว หรือมีลูกติดจากคู่สมรสเก่าเป็นเรื่องที่รับได้ พวกเขาแต่งงานกันเพราะต้องการความช่วยเหลือจากกันและกัน พวกเขาไม่ไว้ใจคนสยาม พวกเขาเลือกเด็กชาวสยามที่จะมาเป็นเพื่อนกับลูกของพวกเขา และเมื่ออายุประมาณ 12 ปี พวกเขาจะส่งลูกไปรับการศึกษาในประเทศบ้านเกิด เพราะพวกเขากลัวว่าลูกจะพูดภาษาไทยคล่องเกินไป และกลายเป็นคนเปิ่น ล้าหลังอย่างชาวสยาม  ถึงแม้ว่าพวกลูกๆ ของจอห์นและอัลธาจะกลับมาเมืองสยามกันหลังจากเรียนจบ พวกเขายังคงเลือกแต่งงานกับคนขาวด้วยกัน การคบหาสมาคมกับชาวสยามเปรียบเสมือนการช่วยเหลือผู้ที่ด้อยกว่า เป็นเหมือนเจ้านายกับลูกน้อง เหมือนผู้มีพระคุณกับผู้ที่ต้องตอบแทนบุญคุณ ไม่ใช่เพื่อนอันเท่าเทียม

สำหรับเรื่องความรักระหว่างชายหญิงมีให้เห็นกันตลอดเรื่อง ตั้งแต่ยุคคนขาวไล่คนอินเดียแดงไปอยู่ในนิคม มาจนถึงเมื่อเธอมาอยู่เมืองสยาม แม่ของอัลธาแต่งงานใหม่กับชายที่อายุอ่อนกว่าเป็นสิบปี เพียงเพราะเขาคิดว่าช่วยเหลือเธอในการเลี้ยงดูครอบครัวได้ และเธอก็ต้องการคนมาช่วยหาเลี้ยงลูกๆ และทำการเพาะปลูก  ความรักระหว่างอัลธาและสามีคนแรกของเธอ เป็นความรักอันบริสุทธิ์ของชายหญิงในเรื่องที่สุดแล้ว เป็นความรักที่เกิดเพราะทั้งสองฝ่ายต้องการจะอยู่ใกล้ชิดกัน ไม่ใช่เพราะต้องการความช่วยเหลือจากกันและกัน  ส่วนกับสามีคนที่สอง ที่มาพบกันหลังสามีคนแรกเสียชีวิต แต่งงานกันเพราะต้องการความช่วยเหลือ ส่วนคู่รักมิสชันนารี ทั้งบรรดาแหม่มๆ และหมอๆ ทั้งหลาย เกิดเพราะต้องทำงานใกล้ชิดกัน พวกเขาไม่มีใครอีกแล้วที่เข้าใจกัน พูดภาษาเดียวกัน มีอารยะเหมือนกัน  ชายชาวอังกฤษคนหนึ่งต้องนอกใจภรรยาที่อยู่อังกฤษ และไปมีลูกกับหญิงชาวสยาม พวกเขามองว่าเป็นเรื่องผิด สุดท้ายเขาเอาลูกของเธอไปเลี้ยงกับลูกของเขาในอังกฤษ

ความตายเป็นอีกสิ่งหนึ่งที่มีให้เห็นอยู่ตลอดเรื่อง ไม่น่าเชื่อว่าชีวิตของคนๆ หนึ่งจะพานพบความตายได้เยอะขนาดนี้ ในช่วงแรก เป็นความตายจากสงครามและความขัดแย้ง ต่อมาเป็นความตายที่เกิดจากโรคภัยไข้เจ็บ  พ่อแม่ต้องฝังศพลูก สามีต้องฝังศพภรรยา ภรรยาต้องฝังศพสามีทั้งๆ ที่เพิ่งมีลูกด้วยกัน ความตายแม้จะเป็นเรื่องเศร้า แต่ดูเหมือนคนสมัยนั้นเคยชินกับความตายมากกว่าคนสมัยนี้ พวกเขาเศร้า แต่เพราะรู้ว่าโรคภัยมากมายที่รักษาไม่ได้ พวกเขาทำใจได้แม้ตัวเองจะต้องเป็นคนที่จากไป

สุดท้ายแล้วสิ่งที่เราได้รับจากคณะมิสชันคืออะไรกัน ศาสนาที่พยายามเข้ามาพร้อมกับความจำเป็นพื้นฐานของชีวิต แต่ก็ไปไม่ไกลดังที่ตั้งใจไว้ ประเทศไทยในปัจจุบันก็ยังเป็นประเทศพุทธศาสนาอยู่ เราได้วัฒนธรรมการดูแลรักษาสุขภาพจากโลกตะวันตก การมีโรงพยาบาล การไปหาหมอ การผลิตยา ทดลองยาใหม่ๆ  เราได้วัฒนธรรมการศึกษาจากตะวันตก เรามีโรงเรียน มีครู มีแบบเรียน เด็กๆ ทุกคนต้องไปโรงเรียน 

สมัยก่อน พวกเขายื่นข้อเสนอให้เรานับถือศาสนาของพวกเขา โดยแลกกับการรักษาชีวิต และการหยิบยื่นความรู้วิทยาการสมัยใหม่ให้ลูกหลานเรา แล้วทุกวันนี้ล่ะ พวกเขาให้อะไรกับเรา และต้องการอะไรจากเรา

No comments:

Post a Comment