2.15.2010

"สุนทรียสนทนา"




วิศิษฐ์ วังวิญญู.  สุนทรียสนทนา.  กรุงเทพฯ : สวนเงินมีมา, 2552.  "สุนทรียสนทนา" โดย วิศิษฐ์ วังวิญญู เป็นผลงานที่น่าสนใจมากจากสำนักพิมพ์สวนเงินมีมาอีกแล้วค่ะ จริงๆ แล้วช่วงนี้ดิฉันค่อนข้างอินกับสำนักพิมพ์นี้พอสมควร เนื่องจากผู้รู้ที่เคารพนับถือกันบอกว่า "หนังสือของสวนเงินมีมาดีๆ ทั้งนั้น"  เริ่มแรก ดิฉันได้อ่าน "ธุรกิจที่ดีงาม" ก็เกิดอาการช๊อค ต้องยกเครื่องจิตเปลี่ยนความคิดกันยกใหญ่เลยทีเดียว ฉนั้น อย่าแปลกใจเลยค่ะ หากช่วงนี้จะเห็นหนังสือจากสวนเงินมีมาเยอะหน่อย  เพิ่งอ่าน "สุนทรียสนทนา" จบสดๆ ร้อนๆ เลยนะคะ  ใครเลยจะรู้ว่าหนังสือเล่มเล็กๆ นี้ อ่านโคตรยากเลย  ภาษาที่ใช้นั้นเหลือกินจริงๆ ค่ะ ต้องใช้สมาธิสูง  ดิฉันเองอ่านบางย่อหน้าครั้งเดียวไม่ได้ ต้องอ่านซ้ำไปซ้ำมาจนกว่าคิดว่าเข้าใจ แล้วผ่านไปยังย่อหน้าต่อไปได้  แต่เหตุการณ์แบบนี้อาจมีสาเหตุมาจากการที่ดิฉันไม่เคยรู้จักกระบวนการสุนทรี ยสนทนามาก่อนก็เป็นได้  ความจริงแล้ว เคยมีโอกาสทำ dialogue แบบนี้มาก่อนนะคะ แต่ตอนนั้นไม่รู้หรอกว่าเค้าเรียกว่า สุนทรียสนทนา เลยไม่ใส่ใจเท่าไหร่  จำได้ว่าตอนที่ทำเอาแต่นั่งร้องไห้เป็นวรรคเป็นเวนเพราะคิดถึงแฟนเก่า ซึ่งตอนนั้นกำลังอยู่ในช่วงระหองระแหงพอดี พอเค้าให้เริ่มพูดก็เอาแต่ร้องไห้ พูดไปสะอื้นไป  พอถึงเวลาคนอื่นพูด ฟังไปก็ร้องไห้ไปเพราะเอามาโยงกับเรื่องของตัวเอง  นั่นแค่จุดเริ่มต้นที่ไม่ได้เรื่องเลยมั้งคะ  เพราะจากวันนั้น ก็ไม่ได้รู้อย่างถ่องแท้เลยว่า สุนทรียสนทนา คืออะไร  ดูจากชื่อ สุนทรียสนทนา เราอาจจะคิดว่า มันคือการสนทนาที่ทำให้เกิดความสุนทรีย์ เกิดความเพลิดเพลินเจริญใจ ใช้ภาษาดอกไม้ หอมหวล สวยงาม ก็คงเป็นอย่างนั้นมั้งคะ คือสุดท้ายแล้วเราน่าจะเกิดความอิ่มเอมใจในระดับหนึ่งจากการสนทนาแบบสุนทรียสนทนา  แต่ที่มันไม่ใช่คือ เราไม่ได้จำเป็นที่จะต้องใช้ภาษาดอกไม้ในการสนทนา แต่มันเน้นที่การฟังอย่างไม่ยึดติด ไม่พยายามโต้แย้ง หรือตัดสิน เป็นการฝึกการฟังอย่างเข้มข้นเลยทีเดียว และหนังสือก็บอกเล่าหลายวิธีที่จะช่วยให้เรามีทักษะการฟังและการสนทนาที่ดี  อย่างวิธีหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าน่าสนใจก็คือ การสนทนาแบบสะท้อน  คือเมื่อผู้พูดคนหนึ่งพูดจบ ผู้ฟังอีกคนหนึ่งก็ทวนสิ่งที่ผู้พูดคนแรกพูด เพื่อให้ผู้พูดได้รับรู้สิ่งที่ตัวเองพูด และเพื่อดูว่าผู้ฟังเข้าใจตรงกันกับสิ่งที่ผู้พูดต้องการจะสื่อสารหรือไม่  และที่สำคัญคือ มันเป็นการช่วยให้ผู้พูดได้รู้จักควบคุมอารมณ์ของตนเองด้วย เพราะหากพูดไปแบบโมโห หรือหยาบคาย มันก็จะกลับมาที่ตนเอง ทำให้ตนเองได้ตระหนักถึงความรุนแรงที่เพิ่งถ่ายทอดไป บางทีทำไปแบบไม่รู้ตัว พอมันย้อนกลับมาที่หน้าเรา อาจจะทำให้ได้สติก็ได้ค่ะ  อยากเอาไปลองใช้ที่ทำงานดูเหลือเกิน  แต่ถ้าทุกคนไม่เข้าใจกระบวนการ มีหวังทะเลาะกันเละเทะแน่ๆ  กระบวนการเรียนรู้ผ่าน สุนทรียสนทนา นั้นมีขั้นตอนทางวิทยาศาสตร์ที่ดึงเข้ามาอธิบาย โดยเฉพาะความเชื่อของวิทยาศาสตร์ควอนตัม ที่ส่ง "ตัวกวน" ลงไปในวงสนทนา เพื่อทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกอะไรบางอย่าง และอยากจะพูดอยากจะฟังเพื่อตอบคำถามที่เจ้าตัวกวนสร้างขึ้น  นอกจากนี้มีทฤษฎีเกี่ยวกับการคิดของสมอง การรับรู้ การประมวลข้อมูล ดังนั้น สุนทรียสนทนา ไม่ได้เป็นเพียงงานศิลป์อย่างเดียว แต่มันสามารถอธิบายเป็นระบบ - ความสัมพันธ์ของจุดเริ่มต้นและจุดจบ - ได้ด้วยวิทยาศาสตร์นั่นเลยทีเดียว  ดิฉันคงไม่สามารถพูดตรงๆ ได้หรอกค่ะว่าเข้าใจ 100% กับสิ่งที่อยู่ในหนังสือ จะให้อธิบายว่าสุนทรียสนทนาคืออะไร ยังไม่แน่ใจเลยว่าจะทำได้หรือเปล่า ผู้อ่านบางท่านที่เคยผ่านกิจกรรมสุนทรียสนทนามาอาจจะอ่านได้สบายๆ เก็ทเร็วเลยแหละ แต่สำหรับดิฉันน่าจะเป็นไปในทางตรงกันข้าม  และคิดว่าต้องลองเข้าร่วมสุนทรียสนทนาสักครั้งสองครั้ง ถึงจะเห็นภาพและเข้าใจที่วิศิษฐ์กล่าวไว้  ช่วงหลังๆ มีการแนะนำว่าจะใช้สุนทรียสนทนาในการประชุมที่ทำงานได้อย่างไร น่าสนใจดีค่ะ แต่ไม่น่าง่ายถ้าสมาชิกในที่ประชุมไม่เข้าใจว่ามันหมายถึงอะไร  อีกจุดหนึ่งที่ดิฉันคิดว่าน่า สนใจมากคือ การตกร่องอารมณ์ ซึ่งวิศิษฐ์อธิบายว่ามันเป็นเหมือนการจมปลักอยู่ในอารมณ์โกรธ โมโห เกลียด หรืออารมณ์ด้านลบอื่นๆ เมื่อคนเราเกิดอารมณ์แบบนี้ สมองส่วนที่ทำหน้าที่เรียนรู้หรือค้นหาข้อมูลจะลดการทำงานลง คนโมโหเลยโมโหอยู่อย่างนั้น บ่นไม่เลิก  แต่ในทางกลับกัน หากสมองส่วนค้นหาข้อมูลวิธีแก้ปัญหาเริ่มทำงาน สมองที่คุมร่องอารมณ์ก็จะหยุดทำงานเช่นกัน  ดังนั้น เวลาที่เราโกรธหรือโมโห เราจึงได้ยินบ่อยๆ ว่า เราควรคิดหาวิธีแก้ปัญหามากกว่ามานั่งอมทุกข์อยู่ อืมม.. มีที่มาอย่างนี้นี่เอง  ดิฉันมีเพื่อนเป็นผู้ให้คำปรึกษาทางด้านจิตใจ เธอก็ใช้วิธีนี้เสมอ แม้แต่กับเพื่อนตัวเอง เธอจะถามกลับไปกลับมา จะทำยังไง คิดว่าวิธีไหนถึงจะดี อืม..มีที่มาอย่างนี้นี่เอง  ก็ถือเสียว่าอ่านเพื่อเก็บข้อมูลไปก่อนได้ลองทำจริงๆ ก็แล้วกันค่ะ

No comments:

Post a Comment